MENU

ทำครอฟเฟิลขาย สร้างรายได้หลายหมื่นต่อเดือน ณัฐ-ณัฐชา เจ้าของร้าน Norchor croffle and bakeroom

 2 มี.ค. 2566 00:00

จากอดีตพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ที่วันหนึ่งตัดสินใจลาออกจากงานประจำ หันมาเป็นแม่ค้าขายขนมบนคอนโด โดยเมนูที่เธอเลือกขายนั่นก็คือ “ครอฟเฟิล” ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีใครรู้จักมากนัก แต่พอทำแล้วผลตอบรับดีมากทีเดียว กระทั่งเธอหันมาต่อยอดทำหนังสือ “สูตรณอชอครอฟเฟิล” ขึ้นมา สำหรับผู้สนใจอยากทำครอฟเฟิลขายด้วย


คุยกับคุณณัฐ-ณัฐชา ปัทธิสามะ เจ้าของร้าน Norchor croffle and bakeroom ถึงความเป็นมาของการทำธุรกิจ และความสำเร็จในวันนี้กันค่ะ


จุดเริ่มต้นขายครอฟเฟิล คุณณัฐเล่าว่า เกิดขึ้นหลังจากเธอลาออกจากงานประจำ และช่วงนั้นก็อยู่ในยุคโควิด-19 พอดี เธอจึงมองเห็นช่องทางว่า เดลิเวอรี่เริ่มเข้ามามีส่วนสำคัญในชีวิต จึงเกิดไอเดียอยากขายของกิน


“ก่อนหน้านี้ณัฐเรียนจบคณะบริหาร สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ ก็ได้สมัครเข้าทำงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ตำแหน่งออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง เพราะตอนเรียนเราก็ผ่านการทำงานออนไลน์มาบ้าง เช่น ขายเสื้อผ้า วาดรูปขายผ่าน Facebook IG Shopee ก็เลยทำให้คุ้นเคยกับช่องทางออนไลน์มาพอสมควร ทำไปได้ไม่ถึงปี ก็รู้ว่ามันไม่ใช่ เพราะงานออนไลน์อยู่ที่ไหนก็ทำได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทั้งวัน เพราะขนาดตอนเราไม่อยู่ออฟฟิศ เรายังต้องทำงานเลย ก็เลยรู้สึกว่างานประจำไม่ตอบโจทย์ จึงตัดสินใจลาออกเลยค่ะ ระหว่างช่วงที่ลาออก ในใจก็คิดว่าคงหางานใหม่ทำ แต่ช่วงนั้นเป็นช่วงโควิดพอดี มีมาตรการห้ามรับประทานอาหารในร้าน เราก็ได้สังเกตว่าเดลิเวอรี่เริ่มเข้ามามีส่วนในชีวิตของเรา เราเองก็สั่งอาหารผ่านแอปฯ เกือบทุกวัน เลยมีไอเดียว่า เราทำของกินขายดีไหม เพราะคนเราคงไม่ซื้อเสื้อผ้าได้ทุกวันเหมือนของกิน”

ส่วนเหตุผลที่เลือกขายครอฟเฟิลนั้น คุณณัฐเล่าต่อว่า มาจากที่เธอชอบดู Vlog เกาหลี อีกทั้งพอได้ศึกษาดูเห็นว่าครอฟเฟิลทำไม่ยาก ไม่ต้องไปจ่ายตลาดทุกวันเหมือนกับอาหารคาว จึงตัดสินใจลองขายดู


“ช่วงนั้นณัฐชอบดู Vlog เกาหลี แล้วไปเห็นว่าครอฟเฟิลฮิตมากที่นั่น และในไทยยังไม่ค่อยมีคนทำ เราก็ลองศึกษาวิธีการทำดูว่าทำยังไง ส่วนตัวณัฐเป็นคนไม่มีพื้นฐานการทำเบเกอรี่เลย แต่ปรากฎว่าครอฟเฟิลทำไม่ยากเลย ถ้าเราทำอาหารคาวขาย เราจะต้องสต็อกของสดใหม่ทุกวัน เราไม่สะดวกที่จะไปตลาดทุกวัน เลยได้ข้อสรุปว่า ขาย ครอฟเฟิลดีกว่า”


แต่กว่าจะมาเป็นร้าน Norchor croffle and bakeroom คุณณัฐผ่านมาเยอะพอสมควร แรก ๆ มีปัญหาหลายอย่างเพราะด้วยความที่เป็นมือใหม่และประสบการณ์ยังน้อยในอาชีพนี้ แต่เธอก็ได้นำคำติชมจากลูกค้ามาปรับปรุงแก้ไขจนผ่านมาได้


“ณัฐเริ่มจากเงินเดือนก้อนสุดท้ายที่ได้มา การลงทุนครั้งนี้เลยมีความเสี่ยงมาก ๆ แต่การขายออนไลน์มีข้อดีตรงที่เราไม่มีค่าเช่า หรือค่าลงทุนทำหน้าร้าน เราจึงลงทุนกับวัตถุดิบได้เต็มที่ ตอนแรกลองผิดลองถูกกับแป้งเยอะมาก ๆ กว่าจะได้แป้งที่ถูกใจ แรกเริ่มทำให้คนรอบตัวชิมว่าเป็นยังไงบ้าง พอฟีดแบกออกมาดี ก็เริ่มเปิดรับออเดอร์ผ่านกลุ่มของกินใน Facebook ให้แฟนช่วยส่งตอนเย็น ส่งได้วันละ1 รอบ เพราะแฟนทำงานประจำ ขายไปได้สักพักก็เริ่มเปิดขายบนแอปเดลิเวอรี่ เพราะอยากขายให้ลูกค้าได้ทั้งวัน ระหว่างขาย คือ เรายังใหม่และยังไม่ค่อยมีประสบการณ์ เลยทำให้มีปัญหาหลายอย่าง เช่น ตอนเริ่มขายเราใช้เตาที่ทำขนมได้ทีละชิ้น ทำให้ทำไม่ทัน ไรเดอร์รอนาน ลูกค้าได้ขนมไม่สุกบ้าง ทำออเดอร์ผิดบ้าง ซอสบางอย่างยังไม่ลงตัว เป็นต้น แต่พอเปิดไปได้สักพัก ณัฐก็ได้นำคำติชมจากลูกค้ามาปรับปรุงแก้ไขจนเริ่มดีขึ้นค่ะ”

โดยกลยุทธ์และเทคนิคการขายนั้นคุณณัฐใช้หลักการ 4C นั่นก็คือ Customer , Cost , Convenience และ Communication


Customer – สิ่งที่ลูกค้าต้องการ

“เราต้องการจะขายใคร กลุ่มลูกค้าเป็นแบบไหน ตั้งราคาเท่าไหร่ให้ลูกค้ามีกำลังซื้อ ส่วนตัวณัฐตอบได้ว่า เราต้องการขายให้คนที่มีกำลังซื้อไม่ได้สูงมาก ราคาชิ้นละ 30-50 บาท เพราะปกติครอฟเฟิลจะมีขายตามคาเฟ่ซึ่งราคาสูง แต่เราอยากขายราคาไม่แพงเพราะลูกค้าจะได้สั่งหลาย ๆ ชิ้น”


Cost – ความคุ้มค่าของลูกค้า

“ลูกค้ายินดีที่จะจ่ายในราคานี้หรือไม่ อย่างครอฟเฟิลของเรา ชิ้นละ 30 กรัม ราคาประมาณ 40 บาท ซึ่งแพงกว่าขนมบางอย่าง แต่ทำไมลูกค้าถึงยอมจ่าย เพราะครอฟเฟิลทำมาจากแป้งครัวซองต์นั่นเอง”


Convenience – ความสะดวกสบายในการซื้อ

“เรามีช่องทางเดลิเวอรี่ อยู่บ้านก็สามารถสั่งได้ และยังสามารถสั่งได้หลายชิ้น หลายรสชาติในการกดสั่ง 1 ครั้ง”


Communication – การสื่อสาร

“คือเราจะบอกลูกค้ายังไง ให้ลูกค้ารู้ว่าเราขายครอฟเฟิล มีหน้าอะไรขายดีบ้าง เราจะมีเพจFacebook IG และโพสต์ลงกลุ่มของกิน รวมถึงการทำTiktok ด้วย”


ส่วนจุดขายที่ทำให้ร้าน Norchor croffle and bakeroom แตกต่างจากร้านอื่นนั้นมาจากการจับกลุ่มลูกค้าถูก อีกทั้งยังรวมไปถึงการเลือกวัตถุดิบ การตั้งราคาที่ไม่สูงนัก มีหน้าขนมที่หลากหลาย ดึงดูดลูกค้าด้วยการเลือกแพคเกจจิ้งน่ารัก ๆ ถ่ายรูปเองและอัปเดตผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ รวมถึงการบริการที่ใส่ใจลูกค้าด้วย


“เราเป็นเจ้าแรก ๆ ที่ทำ และก็จับกลุ่มลูกค้าถูก คือการเลือกวัตถุดิบอย่างดี ราคาไม่สูง มีหน้าขนมที่หลากหลาย หน้าขนมแน่น ๆ เลือกใส่กล่องกระดาษและมีกระดาษรองลายน่ารัก ๆ เพื่อดึงดูดลูกค้า ใช้รูปที่เราถ่ายเอง รวมถึงเราอัปเดตช่องทางออนไลน์อยู่ตลอดเวลา ทำให้บางคนที่ไม่ได้ตั้งใจ ผ่านมาเห็นต้องหยุดดูและกดสั่งค่ะ”


“รวมถึงเราเพิ่มการบริการให้ลูกค้าด้วยค่ะ ถึงแม้ว่าเราจะไม่มีหน้าร้าน แต่เราสามารถให้บริการได้ เช่น การตอบกลับลูกค้า เมื่อเห็นว่าลูกค้าเคยสั่ง ก็มีของแถมเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ค่ะ”


“จริง ๆ ณัฐแทบจะไม่ได้หวังกับยอดขายวันแรกเลยค่ะ เพราะแค่อยากลองทำ แต่พอขายไปได้ 1 สัปดาห์ ฟีดแบกกลับมาค่อนข้างดี ทำให้ขายได้วันละ 20-30 ชิ้น เพราะว่ามันสอดคล้องกับกลยุทธ์ที่เราวางไว้ด้วย แต่หลังจากที่ณัฐได้ทำการตลาดผ่านTiktok มีคนรู้จักมากขึ้น ทำให้ยอดขายสูงสุด 120 ชิ้นต่อวันเลยค่ะ”


ปัจจุบัน คุณณัฐขายครอฟเฟิลบนเดลิเวอรี่ อีกทั้งยังได้ต่อยอดเป็นหนังสือ และการออกบูธต่าง ๆ ด้วย


“เพราะว่ามีลูกค้าถามมาเยอะมากเลยค่ะ ว่าอยากขายเหมือนกัน เปิดสอนมั้ยคะ เรายังไม่สะดวกเปิดสอน เลยทำหนังสือ “สูตรณอชอครอฟเฟิล” ขึ้นมาค่ะ เราชอบแต่งรูปทำเมนูเองอยู่แล้ว จริง ๆ ทำสูตรง่าย ๆ ก็จบ แต่ของณัฐ ไม่ค่ะ อยากทำเป็นสินค้าออกมาให้คนได้เก็บสะสมด้วย เลยนั่งเขียนหนังสือเองทั้งหมดเลยค่ะ รูปในเล่มก็ถ่ายเองหมดเลย ในหนังสือจะบอกวัตถุดิบ วิธีการทำทุกอย่างแบบไม่มีกั๊กเลยค่ะ มีคลิปสอนด้วยนะคะ แล้วณัฐก็ได้เขียนประสบการณ์การเปิดร้านทั้งหมดของเราลงไปด้วย เพื่อที่คนอ่านจะได้ศึกษาค่ะว่าจะต้องเริ่มยังไง”


“ส่วนเรื่องออกบูธ เราได้รับการติดต่อไปออกบูธครั้งแรกที่อิมแพ็กเมืองทองธานี จำได้ว่าตื่นเต้นมาก ๆ เพราะจากคนที่ไม่เคยมีหน้าร้าน การไปออกบูธ เหมือนได้ซ้อมมีหน้าร้านเลยค่ะ ซื้อของจัดบูธไปเยอะมาก เหนื่อยมากแต่คุ้มค่าค่ะ เพราะเป็นการขายแบบได้เจอลูกค้าครั้งแรกเลย ครั้งที่สองไปออกบูธที่สามย่านมิตรทาวน์ และล่าสุดไปออกบูธที่มิวเซียมสยาม ตอนนี้เริ่มปรับตัวได้แล้วค่ะ (ยิ้ม)”

โดยเป้าหมายในอนาคต คุณณัฐวางแผนไว้ว่าจะเปิดหน้าร้านขายทั้งเบเกอรี่และเครื่องดื่ม


“ในอนาคตนี้มีแพลนจะเปิดหน้าร้านค่ะ เราเก็บเงินมาได้สักระยะแล้ว เราชอบการได้เจอและพูดคุยกับลูกค้ามาก ๆ จนอยากทำหน้าร้านค่ะ เราจะได้บริการลูกค้าไปพร้อม ๆ กับขายของไปด้วย ก็จะมีครอฟเฟิล เบเกอรี่ และเครื่องดื่มขายค่ะ และอาจจะมีเปิดสอนด้วยนะคะ แต่เร็ว ๆ นี้จะเพิ่มเป็นเบเกอรี่และเครื่องดื่มเข้ามาด้วยค่ะ เช่น คุกกี้ ขนมปัง ตอนนี้กำลังฝึกทำอยู่ค่ะ”


สำหรับคนที่อยากเริ่มต้นทำธุรกิจคุณณัฐแนะนำว่า ถ้าตั้งใจอะไรแล้ว ต้องทำให้เต็มที่ที่สุด และเมื่อเราถามว่าเคล็ดลับการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ คืออะไร? คุณณัฐตอบเร็วทันทีว่า “คำนึงถึงประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับมากกว่ากำไร”


“เมื่อเราตั้งใจจะทำอะไรแล้ว จะทำให้เต็มที่ให้สุดค่ะ เพราะถ้าเรายังไม่เต็มที่แล้วเลิกไปก่อน เราจะไม่ได้รู้ผลลัพธ์ว่าจะประสบความสำเร็จไหม ระหว่างทางอาจจะมีอุปสรรคมากมายที่ต้องเจอ แต่ทุกปัญหามีทางออกคือเรื่องจริงค่ะ อยู่ที่ว่าเราจะเลือกทางออกแบบไหน


ส่วนตัวณัฐเองเคยหยุดขายครอฟเฟิลไปช่วงหนึ่ง เพราะลูกค้าน้อยลงจนแทบไม่มี ทั้ง ๆ ที่ขนมของเราก็ยังอร่อยเหมือนเดิม รู้สึกท้อมาก ๆ แต่วันหนึ่งก็คิดขึ้นได้ว่า ยังมีคนอีกหลายคนยังไม่ได้กินครอฟเฟิลของเรา ก็เลยกลับมาทำต่อค่ะ แต่รอบนี้ลองปรับการขายของเราใหม่หมดเลย หาช่องทางใหม่ ๆ คือลองทำคลิปลง Tiktok ก็ทำให้มีลูกค้ากลับมาสั่งอีกครั้ง ถ้าวันนั้นเราเลือกที่จะเลิกไปเลย ไม่กลับมาสู้ ก็อาจจะไม่มีวันนี้


ขอให้ทุกคนสู้ ๆ นะคะ ทุกวันนี้มีอาชีพหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริม เราสามารถดูยูทูปและฝึกทำอาหารไว้ขายได้ ความรู้ในการประกอบอาชีพอยู่ไม่ไกลตัวเราค่ะ หามันให้เจอนะคะ”


“สุดท้าย ณัฐขอฝากร้านณอชอครอฟเฟิลไว้ด้วยนะคะ ทั้งทาง Facebook, IG, Tiktok Norchor.croffle ค่ะ ช่วงนี้ณัฐกำลังเตรียมทำหน้าร้านแล้ว อาจจะไม่ค่อยได้เปิดขายผ่านแอปเดลิเวอรี่ ยังไงก็ฝากติดตามด้วยนะคะ จะแจ้งผ่านช่องทางออนไลน์ของร้านทุกแพลตฟอร์มเลยค่ะ สำหรับหนังสือสูตรครอฟเฟิลยังสามารถสั่งเข้ามาได้เรื่อย ๆ เลยค่ะ”


ติดตามเพิ่มเติมได้ที่

Facebook : Norchor croffle and bakeroom (https://www.facebook.com/norchor.bakeroom)

IG : norchor.croffleandbakeroom (https://rb.gy/dsayin)

Tiktok : Norchor.croffle (https://www.tiktok.com/@norchor.croffle)


เรื่อง : Varuniias