MENU

กสิกรไทยส่ง ‘เคไอวี’ ชิงลูกค้ารายย่อย ตั้งเป้าปี 69 ปล่อยกู้ 8 หมื่นล้าน กำไร 5 พันล้าน

 2 ส.ค. 2566 00:00

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประกาศแยกบริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด (เคไอวี :KIV) เพิ่มความคล่องตัวในการรุกธุรกิจให้บริการการเงินกับลูกค้ารายย่อย พร้อมใช้ศักยภาพของพันธมิตรร่วมกับโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ของธนาคาร เพื่อให้สามารถลดต้นทุนธุรกิจ และลดต้นทุนความเสี่ยงด้านเครดิต ตั้งเป้าปี 69 ยอดปล่อยสินเชื่อ 7.5-8.0 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิ 4,500-5,000 ล้านบาท


นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า ธนาคารได้ประกาศแยกบริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด หรือ เคไอวี (KASIKORN INVESTURE:KIV) ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งภายใต้กลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารกสิกรไทย เพื่อลงทุนในบริษัทร่วมกับพันธมิตร สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของธนาคารที่มุ่งเพิ่มอำนาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้า (Empower Every Customer's Life and Business) โดยเคไอวีจะมีบทบาทสำคัญในการเสริมความแข็งแกร่งของธนาคารและพันธมิตร เพื่อสร้างรายได้บนความเสี่ยงที่คุ้มค่า ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม


โดยเคไอวีจะทำธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของธนาคาร เน้นในกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อ ซึ่งการจะทำธุรกิจกับลูกค้ากลุ่มนี้ก็จะต้องมีความแตกต่างจากเงื่อนไขของธนาคาร ต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ตเพื่อให้สามารถเข้าถึงเขาได้ ซึ่งตรงนี้ก็จะมาเติมเต็มส่วนที่ธนาคารทำได้ยาก และเคไอวีก็ถือเป็นเรือธงแรกของกสิกรไทยที่จะสร้างรายได้อย่างมีนัยสำคัญ พร้อมกันนั้น ก็อยู่ระหว่างการทดสอบระบบอีกหลาย ๆ อย่างที่จะทยอย ๆ ออกมาในระยะต่อไป


“ธนาคารได้ปรับรูปแบบการบริหารจัดการของเคไอวี โดยมีคุณพัชร สมะลาภา เข้าดำรงตำแหน่ง Group Chairman ของ เคไอวี และแยกเคไอวีออกมา เพื่อทำให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ ขยายความร่วมมือกับพันธมิตร ภายใต้การใช้ศักยภาพที่มีอยู่ของธนาคารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ธนาคารมั่นใจว่า การปรับครั้งนี้จะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในการให้บริการการเงินกับกลุ่มลูกค้ารายย่อย และสร้างรายได้ใหม่ให้กับธนาคาร ทำให้ธนาคารมีกำไรทางธุรกิจที่สูงกว่าธนาคารบริหารจัดการเอง รวมทั้งทำให้ธนาคารมีการเติบโตต่อเนื่องอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน"

นายพัชร สมะลาภา Group Chairman ของ บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด กล่าวว่า เป้าหมายของเคไอวี คือ เพิ่มความสามารถในการให้บริการการเงินกับกลุ่มลูกค้ารายย่อย ซึ่งมีโจทย์สำคัญคือ ต้องลดต้นทุนการดำเนินงาน (Operating Cost) และลดต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (Credit Cost) เพื่อให้ยังคงความสามารถในการสร้างกำไรของธุรกิจ การดำเนินงานของเคไอวีอาศัยความเชี่ยวชาญของพันธมิตรในแต่ละด้าน รวมกับการใช้โครงสร้างและทรัพยากรของธนาคารกสิกรไทยที่มีอยู่แล้ว เช่น จำนวนลูกค้ากว่า 20 ล้านรายK PLUS เงินทุน ข้อมูล ไอที และสาขา เป็นต้น ซึ่งทำให้เคไอวีมีความเข้าใจลูกค้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น สามารถให้บริการการเงินที่ครอบคลุมความต้องการของกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย เจ้าของร้านค้ารายเล็ก กลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการเงินทุนเสริมสภาพคล่อง ให้สามารถใช้บริการการเงินในระบบได้มากขึ้น


สำหรับเป้าหมายการดำเนินธุรกิจนั้น เคไอวีซึ่งได้เริ่มทดลองทำธุรกิจเมื่อปี 2565 โดยมีมาจากปี 2565 สามารถทำยอดสินเชื่อได้รวม 4.7 หมื่นล้าน มูลค่ารวมของสินทรัพย์ในการลงทุน 2.15 หมื่นล้าน จำนวนบริษัทที่ลงทุน 14 ราย และมีกำไรสุทธิรวม 81 ล้านบาท ส่วนในปี 2566 นี้ บริษัทตั้งเป้ายอดปล่อยสินเชื่อไว้ที่ 4-4.5 หมื่นล้าน มูลค่ารวมของสินทรัพย์ในการลงทุน 2.5-3 หมื่นล้านบาท จำนวนบริษัทที่ลงทุนที่ 14 ราย และกำไรสุทธิ 900-1,100 ล้านบาท ขณะที่เป้าหมายในอีก 3 ปีข้างหน้าหรือใน 2569 ยอดปล่อยสินเชื่ออยู่ที่ 7.5-8.0 หมื่นล้านบาท มูลค่ารวมของสินทรัพย์ในการลงทุน 6.5-7.0 หมื่นล้านบาท จำนวนบริษัทที่ลงทุนที่ 14 ราย และกำไรสุทธิเพิ่มเป็น 4,500-5,000 ล้านบาท

ปัจจุบัน บริษัทที่อยู่ในโครงสร้างของเคไอวี จำนวนทั้งสิ้น 14 บริษัท ใน 9 กลุ่มธุรกิจ มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด (KASIKORN LINE COMPANY LIMITED), บริษัท กสิกร ไลน์ อินชัวร์รันส์ โบรกเกอร์ จำกัด (KASIKORN LINE INSURANCE BROKER COMPANY LIMITED), บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจ จำกัด (J ASSET MANAGEMENT COMPANY LIMITED), บริษัท ทีทูพี โฮลดิ้ง จำกัด (T2P HOLDINGS COMPANY LIMITED), บริษัท ธิงเกอร์ฟินท์ จำกัด (THINKERFINT COMPANY LIMITED), บริษัท กสิกร คาราบาว จำกัด (KASIKORN CARABAO COMPANY LIMITED) บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด (TD TAWANDANG COMPANY LIMITED)

บริษัท แคปเชอร์วัน จำกัด (KAPTURE ONE COMPANY LIMITED), บริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด (BUZZEBEES COMPANY LIMITED), บริษัท กสิกร โกลบอล เพย์เมนต์ จำกัด (KASIKORN GLOBAL PAYMENT COMPANY LIMITED), บริษัท เงินให้ใจ จำกัด (NGERN HAI JAI COMPANY LIMITED), บริษัท คาร์ ฮีโร่ จำกัด (CAR HERO COMPANY LIMITED), บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด (JK ASSET MANAGEMENT COMPANY LIMITED) และบริษัท แกร็บ โฮลดิ้ง จำกัด (Grab Holdings COMPANY LIMITED)