MENU

ไขข้อสงสัย ทำไมฟังเรื่องผีแล้วชอบจอดับ?

 31 ต.ค. 2566 00:00

คงไม่เกินจริงสักเท่าไหร่ หากจะบอกการฟังเรื่องผีดูเหมือนจะกลายเป็นนิทานก่อนนอน (ฉบับผู้ใหญ่) ของใครหลาย ๆ คนไปซะแล้วเพราะไม่ว่ากี่ราย ๆ ก็จบลงที่อาการ “จอดับ” กลางเรื่องตลอด


จากข้อความข้างต้นสามารถตีความได้ว่า เรื่องผีช่วยให้นอนหลับได้จริงใช่ไหม?


คำตอบของคำถามนั้นก็คือ ไม่ใช่ซะทีเดียว เรื่องผีช่วยให้หลับได้จริง แต่หากจะบอกว่าเรื่องผีคือตัวเลือกเดียวที่ทำให้หลับได้ คงต้องขอปฏิเสธ เพราะสำหรับบางคนแล้วนั้นเพียงแค่เพลงสบาย ๆ พอดแคสต์พัฒนาตัวเอง หรือแม้กระทั่งพระเอกคนใหม่ล่าสุดอย่าง ASMR ก็ถือเป็นนิทานกล่อมนอนอีกประเภทหนึ่งบนชั้นวางที่คนหนุ่มสาวนิยมหยิบไม่แพ้เรื่องผี


เพราะแท้จริงแล้วจุดประสงค์หลักของการฟังอะไรสักอย่างก่อนหัวถึงหมอนนั่นก็ฟังเพื่อลดความฟุ้งซ่าน ช่วยเรื่องความผ่อนคลายจากโลกการทำงาน รวมทั้งเป็นผู้ช่วยยามจำเป็นที่ดึงเราออกจากความคิดแสนยุ่งเหยิงในแต่ละวัน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับวันใหม่เท่านั้นเอง

แล้วเพราะอะไร? ทำไมฟังเรื่องผีทีไรหลับตลอดเลย


ต้องบอกว่า เป็นเพราะเสียงมีผลต่อคลื่นสมอง ตอบแบบนี้น่าจะเห็นภาพมากกว่าปกติแล้วนั้นการสั่นสะเทือนของเสียงส่งผลต่อปฏิกิริยาของร่างกาย สมอง รวมไปถึงอัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งจากการหาข้อมูลพบว่า เสียงที่สม่ำเสมอและผ่อนคลายสามารถช่วยให้นอนหลับได้เร็วขึ้นและทำให้หลับลึกขึ้น


ว่ากันว่าเสียงที่เป็นธรรมชาติทำให้ผู้ฟังรู้สึกถึงความผ่อนคลาย สมองของคุณจะตีความว่า นี่เป็นเสียงที่ไม่คุกคาม ซึ่งจะช่วยลดการตอบสนองในการต่อสู้หรือคิดหนี ลดระดับความเครียด แถมช่วยกลบเสียงที่อาจทำให้สะดุ้งตื่นกลางดึกได้ อย่างเสียงการจราจรหรือเสียงคนเดิน


ซึ่งการฟังเสียงบางประเภทเองก็สามารถช่วยปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับได้ดีขึ้น ว่าง่าย ๆ ก็ช่วยให้นอนหลับลึกนั่นแหละ อย่างพวกดนตรีจังหวะช้า ๆ ที่สามารถลดระดับฮอร์โมนความเครียดคอร์ติซอล ซึ่งช่วยผ่อนคลายจิตใจได้ด้วย ปรับระบบประสาทอัตโนมัติ หรือไปจนกระทั่งช่วยลดความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และอัตราการหายใจ


จากการสำรวจโดย The Sleep Doctor โดยใช้คนอเมริกันที่เป็นวัยผู้ใหญ่มากกว่าครึ่ง (52%) ต้องการเสียงรบกวนเพื่อช่วยให้นอนหลับตอนกลางคืน


และในบรรดาผู้ที่ใช้เสียงรบกวนในการนอนหลับมากกว่า 40.4% เลือกใช้เสียงเพลงเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ อันดับต่อมาคือ ชอบเสียงธรรมชาติ 40.1% และอีก 38.1% นิยมใช้'เสียงสีขาว' หรือWhite Noise จากแอปพิงเคชัน ถัดมาที่อีกส่วนหนึ่ง 34.3% ขึ้นอยู่กับพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ และหนึ่งในสามของผู้คน 33.3% มักเผลอหลับไปกับเสียงของทีวี


ไม่เพียงเท่านั้น นอกจากเรื่องเสียงแล้ว ว่ากันว่า เรื่องสยองขวัญสามารถช่วยบรรเทาความตึงเครียดโดยเนื้อหาที่พยายามกระตุ้นความกลัวเหล่านั้นอาจเป็นตัวช่วยที่ทำให้คุณหลับในวันที่ใช้สมองหนักสุดขีด


มีงานวิจัยจำนวนหนึ่งระบุว่า ภาพยนตร์สยองขวัญนั้นเป็นประโยชน์สำหรับคนที่มีความวิตกกังวล การดูภาพยนตร์แนวสยองขวัญช่วยเบี่ยงเบนความสนใจได้หากเราตกอยู่ในช่วงเวลาแห่งความเครียด เป็นการมุ่งความสนใจจากความกังวลและกระวนกระวายใจไปที่ภาพยนตร์สยองขวัญแทน และนั่นทำให้คุณรู้สึกว่า ฉันควบคุมหรือรับมือกับความกลัวได้ และรู้สึกปลอดภัยในที่สุด


เมื่อดูหนังสยองขวัญทำให้เราได้สัมผัสกับสถานการณ์ที่ตึงเครียด โดยที่ไม่ตกอยู่ในอันตรายจริง ๆ และจากนั้นจะรู้สึกโล่งใจเมื่อหนังจบ ซึ่งความรู้สึกนั้นเชื่อมโยงไปยังระบบประสาทซิมพาเทติกที่จะกระตุ้นให้คุณสู้หรือหนี และช่วยให้คุณแก้ไขสถานการณ์ที่อาจเป็นอันตรายต่อตัวเองได้ ส่วนความโล่งใจหลังหนังจบเป็นเพราะระบบประสาทพาราซิมพาเทติกจะทำงานเพื่อผ่อนคลายร่างกายหลังจากพ้นอันตรายไปแล้ว


และอีกข้อหนึ่งที่หลายคนอาจจะไม่ค่อยสังเกตกับสาเหตุหลับกลางอากาศคือ เสียงที่มีจังหวะสม่ำเสมอของผู้ดำเนินรายการ ก็สามารถทำให้เปลือกตาของคุณผู้ฟังรู้สึกหนักได้เช่นเดียวกัน นั่นอาจจะเป็นเพราะจิตใจและร่างกายของเราจะตอบสนองต่อจังหวะ ความคุ้นชินต่อน้ำเสียง และเป็นความไว้วางใจต่อเสียงนั้น ๆ ซึ่งเมื่อฟังบ่อย ๆ เข้า เรียกได้ว่าเป็น Night Routine สมองของคุณอาจรู้สึกเชื่อมโยงกับเสียงนั้นไปโดยปริยาย เช่นเดียวกับเพลงกล่อมนอนในวัยเด็ก หรือการที่พ่อแม่อ่านนิทานก่อนนอนให้ฟัง ซึ่งนั่นทำให้เรารู้สึกง่วงนอนเร็วกว่าปกติ


แต่ก็ต้องบอกว่า การฟังเรื่องผีหรือเรื่องสยองขวัญมากไปก็ไม่ใช่ว่าไม่มีผลเสีย….


เพราะสำหรับบางคน การฟัง“เรื่องผี” หรือ “เรื่องอาชญากรรมน่ากลัว” ยิ่งฟังยิ่งทำให้ร่างกายตื่นตัว แถมมันยังสื่อเป็นนัย ๆ ว่าการเสพติดเรื่องสยองอย่างไม่รู้ตัวของคุณนั้น อาจหมายความว่า คุณกำลังตกอยู่ในความกังวล


รวมไปทั้งการฟังอะไรก่อนนอนเป็นเวลานาน ๆ อาจส่งผลให้เจอปัญหาการนอนหลับในระยะยาว


แม้ว่าการฟังพอดแคสต์บนเตียงจะมีประโยชน์ แต่ตามกฎทั่วไปแล้วมันไม่ดีสำหรับปัญหาการนอนหลับในระยะยาว” Dr.Lindsay Browning นักจิตวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอน กล่าว


เมื่อคุณฟังใครสักคนคุยกับคุณบนเตียง เสียงนั้นอาจเป็นอันตรายต่อการนอนหลับได้จริงๆ เพราะสมองของคุณได้รับการกระตุ้นให้ตื่นตัวอยู่เสมอและสนใจฟังสิ่งที่เขาพูด ซึ่งจริง ๆ คนเราปกติจะนอนหลับได้ดีขึ้นในที่มืดและเงียบ ดังนั้นการฟังพอดแคสต์จึงไม่ใช่สภาพแวดล้อมที่เหมาะสำหรับการนอนหลับ บางจังหวะคุณอาจเผลอหลับไป และเสียงของพอดแคสต์อาจปลุกคุณขึ้นมาอีกครั้ง


และจากข้อมูลเพิ่มเติม ระบุว่า แม้เสียง ๆ นั้นไม่ปลุกคุณให้ตื่นแบบเต็มตัว แต่ในจังหวะเดียวกันมันจะลดความลึกของการหลับในแต่ละขั้นลง และทำให้คุณรู้สึกว่านอนไม่พอ


แต่อย่างไรก็ดี จากข้อมูลผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็พูดว่า การฟังพอดแคสต์หรืออะไรก็ตามเพื่อช่วยให้นอนหลับไม่ได้เป็นอันตรายขนาดนั้น แต่ทั้งนี้ก็ตามมาด้วยคำแนะนำถึงความระมัดระวัง ไม่หักโหมจนเกินไป หรืออาจจะมีการตั้งเวลาเปิด-ปิดของเสียงนั้น ๆ และสำหรับใครที่มีปัญหาการนอนหลับอย่างต่อเนื่อง แนะนำให้เลี่ยงคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ก่อนนอน จำกัดแสงสีฟ้าจากอุปกรณ์ในตอนเย็น รวมทั้งใช้เทคนิคการจัดการความเครียด อาทิ การทำสมาธิ ออกกำลังกาย และพยายามนอนหลับและตื่นในเวลาเดียวกันในแต่ละวันก็อาจจะช่วยคุณได้

Ref


อ้างอิง


https://www.bettersleep.com/blog/what-are-sleep-sounds/#:~:text=Sleep%20sounds%20such%20as%20white%20noise%2C%20pink%20noise%2C%20brown%20noise,soothing%20sounds%20are%20worth%20trying.

https://sleepopolis.com/news/podcasts-to-fall-asleep-expert-advice/

https://www.voices.com/blog/audio-before-bed/

https://speechify.com/blog/audiobooks-to-fall-asleep-to/?landing_url=https%3A%2F%2Fspeechify.com%2Fblog%2Faudiobooks-to-fall-asleep-to%2F

https://www.healthline.com/health/how-do-horror-movies-affect-your-mental-health#physiological-effects

https://www.tandfonline.com/doi/abs/10.1080/1025389031000101349

https://www.sleepfoundation.org/noise-and-sleep/white-noise