MENU

BKI ทรานฟอร์ม ยกฐานะเป็นโฮลดิ้งส์ ตั้งเป้ากวาดเบี้ย 3.25 หมื่นล้าน เติบโต 8%

 8 เม.ย. 2567 00:00

บมจ.กรุงเทพประกันภัย (BKI) เตรียมทรานฟอร์มสู่ บมจ.บีเคไอ โฮลดิ้งส์ (BKIH) คาดนำเข้าจะทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 18 มิ.ย.67 พร้อมตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยรับปีนี้โต 32,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8%


นายอภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือBKIเปิดเผยถึง แผนการปรับโครงสร้างบริษํท ว่า บริษัทเตรียมแผนจะปรับโครงสร้างเป็นบริษัทโฮลดิ้งส์เป็นบริษัท บีเคไอ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BKIH เพื่อนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แทน BKI ที่จะเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันเดียวกัน


ปัจจุบันบริษัทได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นจะทำการเทนเดอร์ออฟเฟอร์ ด้วยการแลกหุ้นสามัญ BKIH1 หุ้นต่อ 1 หุ้น BKI คาดจะดำเนินการระหว่างวันที่ 25 มี.ค. - 5 มิ.ย. และจะสามารถนำ BKIH เข้าจะทะเบียนได้ประมาณกลางเดือน มิ.ย. หรือ 18 มิ.ย. 67


สำหรับเป้าหมายการดำเนินธุรกิจในปี 2567 นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า บริษัทได้ตั้งเป้าหมายด้วยเบี้ยประกันภัยรับรวมที่ 32,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ 8% จากที่มีเบี้ยรับรวม 29,915.7 ล้านบาท ประกอบด้วยเบี้ยประกันภัยรถยนต์ 13,690 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัยที่ไม่ใช่ประกันภัยรถยนต์ (Non-Motor)18,810 ล้านบาท


ส่วนภาพรวมแนวโน้มของธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2567 สมาคมประกันวินาศภัยไทยประเมินว่า จะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงขยายตัวอยู่ในช่วง 5-6% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยได้รับผลบวกจากประกันภัยสุขภาพที่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ และ ชาวไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ


ขณะที่ประกันภัยรถยนต์นั้น แม้ยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่โดยรวมจะมีแนวโน้มหดตัวลงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว แต่ในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) คาดว่า จะยังคงเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งรถยนต์ EV มีอัตราเบี้ยประกันภัย โดยเฉลี่ยที่สูงกว่ารถยนต์ใช้เชื้อเพลิง ส่งผลให้ปริมาณเบี้ยประกันภัยรถยนต์โดยรวมน่าจะยังคงเติบโตได้


ด้านตลาดที่อยู่อาศัยแม้จะได้รับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนและ อัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับสูงจนส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค แต่ด้วยต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับ ผู้ประกอบการได้เปิดโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้สูงมากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราการถูกปฏิเสธสินเชื่อน้อยกว่า ทำให้มูลค่าที่อยู่อาศัยต่อหน่วยที่เข้าสู่ระบบประกันภัยปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผล่ให้เบี้ยประกันอัคคีภัยเพิ่มขึ้น