MENU

"Lightnet" ประกาศจับมือ "WeLab" ยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank คาดรู้ผลกลางปี 68

 19 ก.ย. 2567 00:00

"Lightnet" ของ "ชัชวาลย์ เจียรวนนท์" ประกาศจับมือ WeLab ฟินเทคชั้นนำระดับโลก ยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank ในไทย คาดรู้ผลภายกลางปี 2568 ชูจุดเด่นประสบการณ์บริหาร Virtual Bank ที่ประสบความสำเร็จในฮ่องกง-อินโดนีเซีย รองรับลูกค้ากว่า 65 ล้านราย พร้อมการันตีด้วยใบอนุญาตการให้บริการทางการเงินกว่า 20 ใบ และเครือข่ายระบบนิเวศขนาดใหญ่ของฟินเทคชั้นนำในไทย


Lightnet Group บริษัทฟินเทคชั้นนำของไทย ประกาศจับมือ WeLab ผู้นำด้าน Virtual Bank ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจะรับทราบผลการพิจารณาภายในช่วงกลางปี 2568 ชูประสบการณ์การบริหาร Virtual Bank ที่ประสบความสำเร็จในฮ่องกง-อินโดนีเซีย รองรับลูกค้ากว่า 65 ล้านราย พร้อมการันตีด้วยใบอนุญาตการให้บริการทางการเงินกว่า 20 ใบ ทั้งในเอเชียและยุโรป รวมถึงประเทศไทย ด้วยเครือข่ายระบบนิเวศขนาดใหญ่ของ Lighthub Asset ฟินเทคชั้นนำของไทย ก่อตั้งโดยนายชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ร่วมกับ Lightnet Group ที่มีฐานลูกค้าในไทยได้กว่า 46 ล้านราย ครอบคลุมหลายภาคส่วนตั้งแต่กลุ่มเกษตรกรรม อาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงธุรกิจอีคอมเมิร์ซ รวมถึงช่องทางให้บริการกว่า 150,000 จุดทั่วประเทศ


สำหรับ Lightnet Group บริษัทฟินเทคของไทยที่ยกระดับเป็นบริษัทฟินเทคชั้นนำของโลก ได้รับใบอนุญาตการให้บริการทางการเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารกลางต่างๆ ในเอเชียและยุโรป พร้อมให้บริการ Global Payment Solution ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินระหว่างประเทศ ดิจิทัลวอลเล็ท และบัญชี Virtual Bank รองรับหลากหลายสกุลเงินใน 150 ประเทศทั่วโลก ผ่านเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เช่น AI , Blockchain


ด้าน WeLab คือ Virtual Bank ชั้นนำในเอเชียแปซิฟิก ให้บริการลูกค้ากว่า 65 ล้านราย อนุมัติสินเชื่อดิจิทัลมาแล้วกว่า 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเสนอบริการทางการเงินดิจิทัลที่ครบครัน ได้แก่ สินเชื่อผ่านระบบ Credit Scoring ล้ำสมัย โซลูชั่นเทคโนโลยีสำหรับองค์กร ไปจนถึงดิจิทัลแบงก์กิ้ง ครอบคลุมทุกด้าน อาทิ การออม การจ่ายเงิน สินเชื่อ ประกัน และการบริหารความมั่งคั่ง ด้วยความสำเร็จในการบริหาร Virtual Bank มาแล้วจาก Bank Saqu ในอินโดนีเซีย และ WeLab Bank ในฮ่องกง


Lighthub และ WeLab ต่างมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการเข้าถึงทางการเงินให้ครอบคลุมในทุกกลุ่ม นำเสนอบริการ Virtual Bank สำหรับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม Unserved และ Underserved ซึ่งทางกลุ่มฯ พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อให้เหมาะกับผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Freelance) และกลุ่มเจ้าของกิจการ MSME ที่มักจะมีรายได้ที่ไม่แน่นอนและโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินจำกัด


สำหรับกลยุทธ์ของกลุ่มฯ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ

ส่งมอบคุณค่าให้ลูกค้าอย่างเป็นระบบ : เข้าถึง – เติบโต – มั่นคง เริ่มต้นจากการสร้างการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินในระบบอย่างเหมาะสมในทันที ผ่านเครื่องมือวางแผน AI จากนั้นจึงนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินที่ก่อให้เกิดรายได้สำหรับลูกค้ารายย่อยและ MSMEs เพื่อเสริมสร้างการเติบโต แล้วจึงนำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างความมั่งคั่งและประกันที่ออกแบบมาอย่างเหมาะสมผ่านการประมวลผลของระบบ AI เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว


นำเสนอเทคโนโลยีล้ำสมัย เปิดรับการเชื่อมต่อกับทุกพันธมิตร เพื่อส่งต่อคุณค่าแก่ลูกค้ากลุ่ม Unserved และ Underserved โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่,การประมวลผลบนขอบเครือข่าย (Edge Computing) และเทคโนโลยีบริหารความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk Technologies)


นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทยังมีโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่ยืดหยุ่น และได้รับการพิสูจน์แล้วซึ่งจะช่วยให้สามารถพัฒนาบริการทางการเงินแบบฝังตัว (Embedded Finance) เพื่อประโยชน์ของลูกค้าและพันธมิตรทุกภาคส่วนซึ่งสามารถเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานทางการเงินที่แข็งแกร่งของทางกลุ่มเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่มีความยืนหยุ่น และพร้อมเชื่อมกับทุกพันธมิตร เพื่อส่งมอบคุณค่าแก่ลูกค้ากลุ่ม Unserved และ Underserved ให้สามารถเข้าถึง ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีราคาสมเหตุสมผลมากขึ้น


ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะที่ปรึกษาของกลุ่มฯ กล่าวว่า ธปท. มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ การเปิดให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ระบบการเงินจะส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่ง Virtual Bank ของทางกลุ่มฯ มีวิสัยทัศน์ในทิศทางเดียวกับทาง ธปท. ที่จะมีการนำแนวทางและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงทางการเงิน และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับการเงินของประเทศไทย


นายหิรัญกฤษฎิ์ (ตฤบดี) อรุณานนท์ชัย กรรมการบริหาร Lighthub Asset และผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Lightnet Group กล่าวว่า เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับนโยบายของ ธปท. ที่จะนำประเทศไทยก้าวสู่ยุค Virtual Banking ซึ่งนับเป็นหมุดหมายที่สำคัญของอุตสาหกรรมการเงินของประเทศ กลุ่มพันธมิตรของเราต้องการนำเสนอ "Smart & Open Virtual Bank” ที่จะนำความเชี่ยวชาญในระดับโลกของเราในด้าน AI, Data Analytic, Digital Platform และนวัตกรรม Credit Scoring มาใช้เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับกลุ่ม Unserved และ Underserved ซึ่งจะก่อให้เกิดการเข้าถึงทางการเงินที่ดียิ่งขึ้นและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเงินและ AI ของภูมิภาคเอเชีย

นายไซมอน หลุง ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WeLab กล่าวว่า เรามีความตื่นเต้นที่จะได้ร่วมสร้าง Virtual Bank แห่งที่สามในเอเชีย และทำให้เป็น Virtual Bank ชั้นนำของไทย เพื่อส่งมอบคุณค่าให้ลูกค้าของเราทั้งในประเทศไทยและในเอเชียแปซิฟิก เราเชื่อมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เปิดกว้างสำหรับพันธมิตรทุกราย เพื่อการทำงานร่วมกันเช่นเดียวกับประสบการณ์ที่เราทำงานร่วมกับพันธมิตรระดับโลก เช่น Apple, Tesla, Allianz และ CK Hutchison ในต่างประเทศ เรามุ่งมั่นที่จะผสานเทคโนโลยีและระบบธนาคารเข้าไปในชีวิตประจำวันของทุกคน และมีส่วนในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย