MENU

"BBL-KTB" รับอานิสงส์ "การบินไทย" หลุดแผนฟื้นฟูกิจการ ยกระดับคุณภาพสินทรัพย์ - หนี้ NPL ลด

 16 ต.ค. 2567 00:00

บล.ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI ประเมิน "BBL-KTB" รับอานิสงส์ หลังบมจ.การบินไทย (THAI) เตรียมออกจากการฟื้นฟูกิจการ และกลับเข้ามาเทรดในตลาดหุ้นกลางปี 68 ทำให้ต้องมีการจัดชั้นหนี้ใหม่ หนี้เอ็นพีแอลลด


ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI มีแผนปรับโครงสร้างทุนในไตรมาส 4/67 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง แผนปรับโครงสร้างเงินทุน ประกอบด้วย 1. การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เกิน 9,800 ล้านหุ้น ราคา 2.5452 บาท/หุ้น เพื่อรองรับการแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้ 2. การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่บุคคลวงจำกัด (private placement) เพื่อรองรับการใช้สิทธิซื้อหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิม, พนักงานและนักลงทุน


จากนั้น THAI จะลดพาร์เพื่อล้างขาดทุนสะสม ซึ่งผู้บริหารของ THAI คาดว่าส่วนของผู้ถือหุ้นจะกลับมาเป็นบวกเดือนก.พ. 68 หลังจากนั้น THAI จะนำส่งงบการเงินให้ SET และ SEC เพื่อเตรียมออกจากแผนฟื้นฟูกิจการในเดือนเม.ย. 68 และ THAI คาดว่าศาลล้มละลายกลางจะเห็นชอบให้ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการเดือนพ.ค.  68 ดังนั้น ผู้บริหารจึงคาดว่าหุ้น THAI น่าจะกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อนสิ้นเดือนมิ.ย. 68


ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI ระบุว่า สำหรับธนาคาร 7 แห่งที่ทำการศึกษาพบว่า BBL และ KTB เป็นธนาคารที่มีการปล่อยเงินกู้ให้กับ THAI มูลค่า 1.19 หมื่นล้านบาท และ 5.8 พันล้านบาท ตามลำดับ ส่วนเจ้าหนี้รายอื่นไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ศึกษา หรือไม่ได้จดทะเบียนใน SET ทั้งนี้ ตามข้อมูล ณ สิ้นไตรมาส 2/67 BBL ถือหุ้น THAI 0.4% แต่สัดส่วนจะเพิ่มเป็น 5.8% หลังแปลงหนี้เป็นทุน


ขณะที่เชื่อว่าทั้ง BBL และ KTB น่าจะจัดชั้นหนี้ของ THAI เป็น NPL ตั้งแต่บริษัทยื่นขอฟื้นฟูกิจการในปี 63 ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากกรอบเวลาที่ THAI จะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ธนาคารทั้งสองแห่งจึงน่าจะจัดชั้นหนี้ของ THAI เป็นสินเชื่อปกติหรือ stage 1 ได้ภายในไตรมาส 4/68 ซึ่งหนึ่งในเงื่อนไขเพื่อออกจากแผนฟื้นฟู กิจการคือ THAI จะต้องชำระคืนหนี้อย่างสม่ำเสมอติดต่อกันเป็นเวลาเกิน 5 ปี


กรณีที่หนี้ของ THAI ถูกจัดชั้นเป็นสินเชื่อปกติ คาดว่า BBL จะมีอัตราส่วน NPL ลดลงจาก 3.64% ณ สิ้นไตรมาส 2/67 เป็น 3.18% และอัตราการตั้งสำรองต่อหนี้ NPL จะเพิ่มจาก 283% เป็น 321% ขณะเดียวกันคาดว่า KTB จะมีอัตราส่วน NPL ลดลงจาก 3.85% เป็น 3.59% และอัตราการตั้งสำรองต่อหนี้ NPL จะเพิ่มขึ้นจาก 181% เป็น 192% ทั้งนี้คาดว่าธนาคารจะไม่กลับรายการเงินสำรองหรือผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) แต่จะนำไปรวมกับเงินสำรองส่วนเพิ่ม (management overlay) หรือเงินสำรองทั่วไป


ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI ยังแนะนำให้คงน้ำหนักการลงทุน (Neutral) ในกลุ่มธนาคารไทย เพราะมองว่ากลุ่มนี้ยังขาดปัจจัยหนุนที่แข็งแกร่งและประมาณการว่า ธนาคารที่ศึกษาจะมี ROE เพียง 8.7 - 8.8% ในปี 67 - 69 (เทียบกับ ROE 11.2 - 12.9% ของธนาคารในอาเซียนที่ทำการศึกษา) ขณะที่มองว่าธนาคารที่เน้นสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่น่าจะ เป็นตัวเลือกที่ดีกว่าธนาคารที่เน้นสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค


อย่างไรก็ตาม กลุ่มธนาคารจะมี upside risk หากการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น, ยอดส่งออกเติบโตสูงขึ้นและรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วน downside risk จะมาจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ลดลงและการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าช้า