ปตท.เร่งดีลพันธมิตรธุรกิจ “ปิโตรฯ-การกลั่น-Life Science” แตะเบรกผลิตรถอีวี
19 พ.ย. 2567 00:00ปตท. วางแผนปี 68 มุ่ง 2 ธุรกิจหลัก "ก๊าซ-ธุรกิจลดคาร์บอน" ด้านซีอีโอ "คงกระพัน" เผยแผนปรับพอร์ตการลงทุน จ้างที่ปรึกษาศึกษา-หาพันธมิตรร่วมลงทุนธุรกิจปิโตรเคมี - การกลั่น - Life Science คาดได้ข้อสรุปปี 68 ขณะที่โครงการร่วมทุน "ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป" ผลิตรถยนต์อีวี ได้ยุติก่อสร้างโรงงาน อยู่ระหว่างเจรจาให้ "ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป" เป็นแกนนำ พร้อมเปิดทางหาพันธมิตรเพิ่ม
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยถึง ผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2567 ว่า ปตท. และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิจำนวน 80,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 1,502 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2% โดยหลักจากผลการดำเนินงานของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นตามปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากโครงการ G1/61 ที่เพิ่มอัตราการผลิตก๊าซฯ ในเดือนมีนาคม 2567 รวมถึงมีกำไรจากการขายเงินลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และ Life Science และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้น
แม้ว่าผลการดำเนินงานโดยรวมของ ปตท. และบริษัทย่อยลดลง เช่น ธุรกิจการกลั่นที่มี Market GRM ที่ปรับลดลง รวมทั้งมีผลขาดทุนสต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้น ธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานลดลง โดยหลักจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ที่มีกำไรขั้นต้นลดลงจากต้นทุนขายที่เพิ่มขึ้น จากผลกระทบของนโยบาย Single Pool ในปีนี้ รวมถึงจากการด้อยค่าสินทรัพย์ธุรกิจปิโตรเคมี ทั้งนี้ กำไรที่มาจากผลการดำเนินงานของบริษัทในเครือ ปตท. คิดเป็น 78% และมาจากผลการดำเนินงานของ ปตท. คิดเป็น 22% โดยเป็นกำไรที่มาจากธุรกิจ Hydrocarbon 94% และธุรกิจ Non-Hydrocarbon 6% โดย 9 เดือนแรกของปี 2567 ปตท. และบริษัทในเครือ นำเงินส่งรัฐรวม 42,669 ล้านบาท
สำหรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในปี 2568 นั้น นายคงกระพัน กล่าวว่า ปตท.จะมุ่งธุรกิจหลัก 2 ด้าน คือ ธุรกิจก๊าซ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการลดคาร์บอน (Decarbonization) โดยผ่านแนวทาง C3 ได้แก่ Climate Resilience Business ปรับพอร์ตธุรกิจให้เติบโต ควบคู่กับการลดการปล่อยคาร์บอน Carbon-Concious Asset ปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด Coalition, Co-Creation, and Collective Efforts for All ประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พัฒนาเทคโนโลยีในการลดก๊าซเรือนกระจก ใช้เทคโนโลยีการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน Carbon Capture and Storage : CCS) รวมถึงธุรกิจไฮโดรเจน เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการกักเก็บคาร์บอนจากกระบวนการผลิตของบริษัทในกลุ่ม อีกทั้งยังมีการลงทุนในธุรกิจไฮโดรเจนต่างประเทศ รองรับการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มเติม และมีเป้าหมายนำไฮโดรเจนเข้ามาผสมกับเชื้อเพลิงหลักเพื่อลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในอนาคต
ส่วนการปรับพอร์ตการลงทุนของกลุ่ม ปตท. นั้น ขณะนี้ได้ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีแนวทางที่จะหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุนในธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น หรือ Downstream ซึ่งต้องเป็นพันธมิตรที่เข้ามาเสริมธุรกิจของปตท. ให้แข็งแกร่ง เช่นเรื่องของเทคโนโลยี หรือการเพิ่มช่องทางการตลาด เป็นต้น ซึ่งคาดจะชัดเจนประมาณต้นปี 68
ด้านธุรกิจ EV Value Chain ปตท.สนใจในธุรกิจสถานีชาร์จอีวี (EV Charging) โดยจะเร่งขยายการลงทุนและให้อยู่ภายใต้แบรนด์เดียว โดยมีบมจ.บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) เป็นผู้ลงทุนในสถานีบริการน้ำมันปตท. ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงขยายไปสู่บ้านเรือน คอนโดมิเนียม ขณะที่โครงการผลิตรถยนต์อีวี ที่ร่วมกับ ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป ปัจจุบันได้ยุติการก่อสร้างไปก่อน เพราะตลาดมีการแข่งขั้นสูง ปตท.เองไม่มีความเชี่ยวชาญ และอยู่ระหว่างการเจรจาให้ ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป เป็นแกนหลักในการดำเนินธุรกิจ เพราะมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจมากกว่า รวมทั้งพร้อมเปิดทางให้พันธมิตรรายใหม่เข้าร่วมธุรกิจด้วย
ธุรกิจ Life Science ภายใต้บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ถือเป็นธุรกิจที่ดี มีแผนที่จะแยกบริษัทออกมา เพื่อหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาถือหุ้นเพื่อมาช่วยบริหารงาน รวมถึงอาจจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ขณะนี้ได้มีความคืบหน้าละคาดจะได้ข้อสรุปภายในต้นปี 2568
สำหรับแผนการลงทุนระยะยาว 5 ปีฉบับใหม่ คาดจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ ปตท. และประกาศอย่างเป็นทางการได้ประมาณกลางเดือนธันวาคม 2567 นี้ของปตท.ชัดเจน โดยปัจจุบันแผนลงทุน 5 ปี ของ ปตท. วงเงินรวมอยู่ที่ประมาณ 2 แสนลัานบาท และรวมกับกลุ่มปตท.ทั้งหมดประมาณ 1 ล้านล้านบาท