MENU

จุฬาฯ จัดงาน “Chula Thailand Presidents Summit 2025” เปิดวิสัยทัศน์ผู้นำองค์กรชั้นนำสู่อนาคตประเทศไทย

 5 ก.พ. 2568 00:00

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดสัมมนาครั้งยิ่งใหญ่แห่งปี “Chula Thailand Presidents Summit 2025” ครั้งแรกของการรวมตัวของสุดยอดผู้นำองค์กรชั้นนำระดับประเทศ แสดงวิสัยทัศน์เพื่อขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทย

นายวิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดเผยถึงที่มาในการจัดงาน “Chula Thailand Presidents Summit 2025” ว่า การจัดงานในครั้งนี้เป็นการบูรณาการทางความคิดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผนึกกำลังผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งเป็นชาวจุฬาฯ เพื่อชี้ทิศทางในการพัฒนาของประเทศไทย และในวันนี้บทบาทของมหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นแค่สถาบันการศึกษา แต่เป็นศูนย์กลางในการให้ข้อคิด แนวคิด และยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ โดยคนไทยจะต้องปรับตัวอย่างไร ไม่ใช่ให้แค่ก้าวทัน แต่ต้องก้าวนำ อันเป็นที่มาของงานในวันนี้


จากปาฐกถาในหัวข้อ Future Thailand : Future Education นายวิเลิศ ได้กล่าวว่า บทบาทการศึกษาของประเทศไทยในอนาคตจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง โดยการศึกษาไม่ใช่การให้ความรู้ ความคิด แต่เป็นการสร้างคน สร้างมนุษย์พันธุ์ใหม่ให้ดีกว่าเดิมที่จะทำให้ประเทศไทยดีขึ้น มิติของการศึกษาจะเปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่ทำให้รู้แต่ต้องทำให้เข้าใจ และไม่ใช่แค่เรื่องของปริญญา เมื่อมองโครงสร้างด้านการแข่งขันในระดับโลก 4 ด้านนั้น ด้านของมนุษย์เป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุด บทบาทการสอนของอาจารย์ที่จะต้องเปลี่ยนไปคือการทำให้คนเกิด Critical Thinking หรือการคิดเชิงวิพากษ์ให้ได้ ต้องตั้งคำถามว่า ทำไม เพื่อให้เกิดความตระหนักและเป็นรากฐานของปัญญา


นายวิเลิศ ระบุว่า บทบาทของมหาวิทยาลัยจะกว้างขึ้นและมีหน้าที่ทำให้ประเทศดีขึ้นเป็น Research university that lead. ที่จะนำผลงานวิจัยมาสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ และนำมาสอนเพื่อให้เกิดทฤษฎีใหม่ โดยยกตัวอย่างจากรายงานด้านการขับเคลื่อนหลักด้านแรงงานในอนาคตของ World Economic Forum (WEF) ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมเป็นพันธมิตรกับในการจัดทำรายงาน ตัวขับเคลื่อนหลักหนึ่งที่กระทบการศึกษาคือเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งเราไม่ได้ต้องการเป็นเพียงผู้ใช้ แต่ต้องการเป็นผู้สร้าง ในด้านสิ่งแวดล้อม งานวิจัยจะต้องเข้ามาช่วยแก้ปัญหา

ส่วนเรื่องการเปลี่ยนแปลงของประชากร มหาวิทยาลัยจะรองรับทุกเพศทุกวัยด้วยการสร้าง live long learning หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมประกาศว่าภายในปีนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะมี จุฬาลงกรณ์ Extension School เพื่อเป็นศูนย์รวมในการสร้างคนทั้งในรูปแบบปริญญาและไม่ปริญญา ออนไลน์และออฟไลน์ ดังนั้นบทบาทของมหาวิทยาลัยจึงโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด


“ในด้านภูมิรัฐศาสตร์ แต่ละประเทศมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น ทำให้งานบางอย่างหายไป งานบางอย่างเพิ่มขึ้น แต่ในภาพรวมงานเพิ่มขึ้น 7% จากผลสำรวจของงานวิจัยระดับโลกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับ WEF ใน 55 ประเทศ 22 อุตสาหกรรม บริษัท 1,000 แห่ง ครอบคลุมพนักงาน 14 ล้านคน พบว่าในอนาคตตำแหน่งงาน 92 ล้านตำแหน่งจะหายไป แต่มีตำแหน่งงานใหม่เกิดขึ้น 170 ล้านตำแหน่ง” นายวิเลิศ กล่าว


โดยผลการสำรวจข้างต้นยังระบุด้วยว่า การปรับตัวให้เข้าถึงตำแหน่งงานไม่ได้ขึ้นอยู่ว่าบุคคลนั้นเป็นใคร แต่ขึ้นอยู่กับว่ามีทักษะที่จำเป็นดังต่อไปนี้หรือไม่ 1. ทักษะด้าน AI และบิ๊กดาต้า 2. ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ 3. ทักษะด้านการคิดอย่างสร้างสรรค์ 4. ทักษะด้านเครือข่าย ความปลอดภัยทางข้อมูล 5. มีความเป็นผู้นำสร้างอิทธิพลต่อสังคมได้


6. ปรับตัวไว ทำงานยืดหยุ่น คล่องตัว 7. มีความเห็นอกเห็นใจและมีทักษะในการรับฟัง 8. มีความเข้าใจตนเองและมีแรงจูงใจในการทำงาน 9. ทักษะด้านการบริหารจัดการคนเก่งในองค์กร 10. ความเป็นคนช่างสงสัยใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต โดยปัจจุบันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำลังวิจัยเพื่อวางแผนว่าจะเสริมสร้างทักษะเหล่านี้ให้คนไทยได้อย่างไร และนี่คือบทบาทของมหาวิทยาลัยในวันนี้ ในฐานะ Skill incubator หรือการบ่มเพาะที่ผลิตคนพันธุ์ใหม่ที่มีทักษะแห่งอนาคตรอบด้าน


“จุฬาลงกรณ์จะเป็น University of AI คือศูนย์รวมของการสร้างสรรค์ AI เพื่อสร้างคนพันธุ์ใหม่ และในวันนี้สิ่งที่จะชนะปัญญาประดิษฐ์ได้คือปัญญาที่ไม่ต้องประดิษฐ์ หรือปัญญาสัญชาตญานที่จะเปลี่ยนความสามารถทางเทคโนโลยีให้เป็นพลังที่สร้างสรรค์คุณค่าให้ตัวเองและสังคม” นายวิเลิศ กล่าว

นอกจากนี้ นายวิเลิศ ยังกล่าวเสริมด้วยว่า สิ่งเหล่านี้คือความหมายของมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริงไม่ได้เป็นเรื่องของการเรียน แต่มีส่วนร่วมในการชี้นำและพัฒนาประเทศไทย ทุกคนมีบทบาทในการพัฒนาประเทศโดยมีมหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลาง และ AI จะไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือ แต่จะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต โดยเรามุ่งหวังจะให้เกิดสัญชาตญานความฉลาด หรือ Instinctive Intelligence ควบคู่ไปกับการใช้ AI เพราะความรู้ล้าสมัยได้ แต่ความฉลาดจะติดตัวไปตลอดชีวิต


“งานสัมมนาในวันนี้ทำให้เราเห็นว่าอนาคตประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ภาคการศึกษาต้องมีการปรับตัวแบบ Holistic Transformation เราต้องก้าวล้ำโลก ไม่ใช่ก้าวตามโลกอีกต่อไป ซึ่งต้องมีการปรับตัวรอบทิศ โดยจุฬาฯ มุ่งมั่นจะเป็นต้นแบบของการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อสร้างสิ่งที่ดีกว่าสู่สังคมเพื่อให้เกิด Sustainable Intelligence” นายวิเลิศ กล่าว