“เกียรตินาคินภัทร” เปิดแผนปี 68 สินเชื่อรวมทรงตัว คุมเข้มคุณภาพหนี้-กลุ่มรถยนต์ยังไม่กระเตื้อง
6 ก.พ. 2568 00:00กลุ่มเกียรตินาคินภัทร เปิดแผนธุรกิจปี 68 ตั้งเป้าสินเชื่อรวมทรงตัว 0-2% ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ยังไม่กระเตื้อง เหตุยังระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ พร้อมดันรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยกำไรช่วยชดเชยรายได้ดอกเบี้ย ด้านภาพรวมเศรษฐกิจคาดเติบโต 2.6% ห่วงแรงหนุนจากท่องเที่ยว-บริการเริ่มชะลอ ขณะที่มาตรการการคลังมีพื้นที่น้อยลง คาดหนี้สาธารณะชนเพดานในอีก 2 ปีข้างหน้า
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากวิกฤตอุตสาหกรรมรถยนต์ตกต่ำ แต่ในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมาเริ่มเห็นสถานการณ์เอ็นพีแอลใหม่ ยอดขาดทุนจากการขายรถยึด, Credit Cost ที่ชะลอลง จึงคาดว่าปีนี้น่าจะเห็นทิศทางที่ดีขึ้นจากปีก่อน แม้ว่าสินเชื่อรถยนต์น่าจะยังลดลงในระดับใกล้เคียงเดิม แต่สินเชื่อกลุ่มอื่นโดยเฉพาะสินเชื่อที่มีหลักประกันก็ยังไม่สร้างปัญหา ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีที่ยังเปราะบางธนาคารก็มีในพอร์ตไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยนั้น ในส่วนของตลาดทุนยังคงตกต่ำต่อเนื่อง ตามสภาะตลาดฯ ซึ่งธนาคารได้มีแนวทางลดการพึ่งพิงตลาดในประเทศมานานแล้ว จึงทำให้สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี ขณะที่ ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth) ยังคงมีการเติบโตได้ดีโดยมี AUA และ AUM รวมเกินกว่า 1 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเติบโตเป็น 2 หลักได้ในปีนี้ และธุรกิจส่วนอื่นๆก็อยู่ในระดับทรงๆตัว พร้อมกันนั้น จะเน้นการนำ Digital เข้ามาช่วยในเรื่องการบริหารจัดการด้านต้นทุนด้วย
สำหรับในปีนี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายทางธุรกิจมีอัตราการเติบโตของสินเชื่อรวม 0 - 2% จากปีก่อนที่ลดลง 7.8% ,ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ 4.8 - 4.9% ,สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) 4.1 - 4.3%, มี Credit Cost ที่ 2.20 - 2.40% และมีอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นเฉลี่ย 9.0-10% จากปีก่อนที่ 8.4%
"ในปีนี้สำหรับภาพรวมธุรกิจของเรา ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่จะมีความเสียงเพิ่มเติมจากต่างประเทศที่มีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้น เราจึงยังยึดหลักการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังต่อเนื่อง โดยสินเชื่อรถยนต์ที่เป็นตัวหลักยังลดลงประมาณเดิม เพื่อควบคุม Credit Cost ทำให้รายได้ดอกเบี้ยก็ยังลดลงตามการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่การเพิ่มขึ้นของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยยังไม่สามารถชดเชยการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยได้ ดังนั้น การบริหารต้นทุนด้านต่างๆจึงยังคงเข้มข้น แต่การตั้งสำรองฯ ก็จะลดลงตามคุณภาพหนี้ที่ดีขึ้น"
นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีนี้สินเชื่อรถยนต์ของธนาคารยังคงลดลงในระดับใกล้เคียงเดิม ตามความระมัดระวังในการปล่อยกู้ แม้ว่าสินเชื่อใหม่ที่ปล่อยไปเมื่อปีก่อนจะมีคุณภาพหนี้ที่ดีขึ้นแต่ก็ยังเป็นสัดส่วนที่เล็ก แต่ก็จะส่งผลดีในระยะยาว ขณะที่สินเชื่อกลุ่มอื่นๆ อาทิ สินเชื่อบ้านก็ยังคงปล่อยอยู่แต่ละเลือกในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ และสินเชื่อธุรกิจมุ่งเน้นในกลุ่มที่มีการเติบโต อาทิ โรงแรม
เศรษฐกิจไทย 68 โตเพียง 2.6% ท่องเที่ยวแผ่ว-หนี้ครัวเรือนกดดัน
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 2.6% ชะลอตัวจากปีก่อนหน้าที่คาดไว้ที่ 2.7% เล็กน้อย โดยมีแรงส่งสำคัญจากภาคท่องเที่ยวและภาคบริการ อย่างไรก็ตาม แรงส่งทั้ง 2 นี้ มีแนวโน้มชะลอลง นอกจากนี้ การหดตัวของสินเชื่อภาคธนาคารจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาวะเศรษฐกิจกำลังส่งผลทางลบต่อการบริโภคสินค้าคงทนและภาคอสังหาริมทรัพย์
ด้านปัจจัยภายนอก เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงจากนโยบายของสหรัฐฯ ที่อาจใช้นโยบายการค้าเป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรอง โดยไทยติดอันดับที่ 11 ของประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากที่สุด และอยู่ในข่ายที่จะตกเป็นเป้าของมาตรการทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์,ยาง,โซล่าเซลล์, เครื่องจักรและชิ้นส่วนยานยนต์ ดังนั้น สิ่งที่เราจะต้องเตรียมการคือจะมีแนวทางการเจรจากับสหรัฐฯ อย่างไร เพราะไทยอาจถูกกดดันให้เปิดตลาดบางกลุ่มสินค้า รวมถึงสินค้าเกษตรที่ไทยมีอัตราภาษีและมาตรการกีดกันการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ
ห่วงหนี้สาธารณะชนเพดานในอีก 2 ปี
นายพิพัฒน์ มองว่า การใช้นโยบายการคลัง และนโยบายการเงินจะมีบทบาทสำคัญในการรับมือกับความเสี่ยง โดยคาดว่าน่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในปีนี้ และรัฐบาลยังคงใช้นโยบายขาดดุลด้านการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมองว่านอกเหนือจาก 2 ส่วนดังกล่าวนี้ ประเทศไทยต้องมีส่วนการปฎิรูปโครงสร้างด้วยจึงจะสามารถผลักดันเศรษฐกิจให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน
"สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ นโยบายการคลังเริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้นจากหนี้สาธารณะที่ขยับใกล้แตะเพดาน 70% ของ GDP และคาดว่าจะสูงเกินเพดานในอีก 2 ปีข้างหน้า ดังนั้น รัฐบาลอาจต้องมีการทบทวนว่าจะเลือกใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรเพื่อให้เกิดผลดีที่สุดต่อเศรษฐกิจให้คุ้มกีบต้นทุนที่เสียไป"