MENU

ศึกชิง "เนสกาแฟ" เดือด! "เนสท์เล่" พร้อมเดินเครื่องผลิต "มหากิจศิริ" ซัดบิดเบือนคำสั่งศาล

 17 เม.ย. 2568 00:00

"เนสท์เล่ - มหากิจศิริ" ซัดกันเละกรณีสิทธิผลิตและจำหน่าย "เนสกาแฟ" ในประเทศไทย "เนสท์เล่" ยกคำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้เนสท์เล่ทำธุรกิจเนสกาแฟต่อ พร้อมเดินเครื่องผลิต ด้าน "มหากิจศิริ" โต้กลับเนสท์เล่บิดเบือนคำสั่งศาล เผยทางออกให้ QCP ผลิตต่อ ไม่ต้องจ่ายค่าสิขสิทธิเพิ่ม ย้ำที่ผ่านมาจ่ายมหาศาลแล้ว


จากความขัดแย้งระหว่าง "เนสท์เล่"กับตระกูล "มหากิจศิริ" ที่ร่วมกันก่อตั้งบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส์ จำกัด (QCP) โดยถือหุ้นในสัดส่วนฝ่ายละ 50% เพื่อผลิตและจำหน่ายกาแฟ "เนสกาแฟ" ในประเทศไทย โดยทั้ง 2 ฝ่ายต่างอ้างความชอบทำการดำเนินธุรกิจในไทย และข้อพิพาทยังคงบานปลาย จนต้องยื่นเรื่องให้ศาลพิจารณาเร่งด่วน


บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ได้ออกแถลงการณ์ยันการทำธุรกิจเนสกาแฟต่อไปตามคำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ โดยมีเนื้อหาดังนี้


เนื่องจากเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ ทป 58/2568 ได้มีคำสั่งยืนยันว่าบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้า “Nescafé” และ “เนสกาแฟ” ในประเทศไทย และสามารถใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ ซึ่งคำสั่งศาลนี้มีผลตั้งแต่วันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2568


ผลของคำสั่งข้างต้น จึงทำให้เนสท์เล่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจเนสกาแฟในประเทศไทยได้ตามปกติ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยเนสท์เล่ได้แจ้งลูกค้า และพันธมิตรทางธุรกิจให้ทราบว่าเนสท์เล่สามารถกลับมารับคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เนสกาแฟได้ตามปกติแล้ว


เนสท์เล่ ยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับคำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางครั้งนี้ เพราะจะช่วยหยุดผลกระทบอันใหญ่หลวงต่อผู้ประกอบการขนาดเล็ก ร้านค้าปลีก คู่ค้าซัพพลายเออร์ และพนักงานในห่วงโซ่คุณค่าของเนสกาแฟ ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดจากคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนหน้านี้ที่ออกโดยศาลแพ่งมีนบุรี นอกจากนี้ ผู้บริโภคก็จะสามารถหาซื้อและบริโภคผลิตภัณฑ์เนสกาแฟทุกชนิดที่มีอยู่ในประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่อง


หลังจากการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลแพ่งมีนบุรี เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 เนสท์เล่ได้พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เรารู้สึกยินดีที่ได้รับการยืนยันจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ซึ่งทำให้เรากลับมาดำเนินธุรกิจเนสกาแฟได้ตามปกติ


เนสท์เล่ ขอยืนยันว่าเราเคารพกฎหมายเสมอมาและได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญากับบริษัทควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักต์อย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด และเรามีหลักฐานของการปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาอย่างครบถ้วน ก่อนหน้านี้ เราได้ชนะคดีที่ศาลอนุญาโตตุลาการสากล โดยที่นายประยุทธ มหากิจศิริ และครอบครัว ได้แก่นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ และนางสาวอุษณา มหากิจศิริ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น QCP ได้เข้าร่วมในกระบวนการไต่สวนของศาลอนุญาโตตุลาการสากลด้วยตนเอง


เนสท์เล่ มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยและจะยังคงเดินหน้าลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภค พนักงานของเรา เกษตรกรที่ทำงานร่วมกับเรา ตลอดจนพันธมิตรทางธุรกิจ และคู่ค้าของเรา


เนสท์เล่ ยืนยันลงทุนผลิตเนสกาแฟในประเทศไทย


เนสกาแฟ แบรนด์กาแฟจากเนสท์เล่ที่ได้รับความนิยมอันดับหนึ่งจากผู้บริโภคชาวไทย ได้มุ่งมั่นสร้างประโยชน์แก่เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับซื้อเมล็ดกาแฟดิบจากเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟไทยมาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี โดยล่าสุดเมื่อต้นปี พ.ศ. 2568 เนสท์เล่ ได้รับซื้อเมล็ดกาแฟโรบัสต้าจากเกษตรกรไทยเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา


ตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 - 2567 เนสท์เล่ ได้มีสัญญากับบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักส์ จำกัด (QCP) ให้เป็นผู้ผลิตเนสกาแฟ ในประเทศไทย โดยสูตรกาแฟและเทคโนโลยีการผลิตเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของเนสท์เล่ และทีมงานในสายการผลิตและการบริหารงานทั้งหมดก็เป็นทีมงานของเนสท์เล่


ภายหลังการสิ้นสุดสัญญาระหว่างเนสท์เล่ กับ QCP ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2567 เนสท์เล่ได้ดำเนินการเพื่อจัดหาผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ เพื่อให้ผู้บริโภคไทยยังคงสามารถดื่มด่ำกับผลิตภัณฑ์เนสกาแฟทุกประเภทได้อย่างเต็มที่ด้วยรสชาติและคุณภาพระดับสูงเช่นเดิม


โดยเนสท์เล่ได้มีการว่าจ้างบริษัทในประเทศไทยให้ช่วยผลิตผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ พร้อมทั้งนำเข้าผลิตภัณฑ์บางส่วนจากประเทศในแถบอาเซียนเป็นการชั่วคราว เนื่องจากกำลังผลิตภายในประเทศไม่เพียงพอ


ทั้งนี้ เนสท์เล่ยืนยันว่าจะลงทุนเพื่อผลิตเนสกาแฟในประเทศไทยต่อไป และในขณะนี้ เนสท์เล่กำลังเตรียมการเพื่อกลับมาดำเนินการผลิตเนสกาแฟในประเทศ หลังจากที่ได้รับคำสั่งจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โดยในระหว่างที่เรากำลังเตรียมการเพื่อผลิตเนสกาแฟในประเทศไทย เราจะยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนเกษตรกรไทยด้วยการรับซื้อวัตถุดิบในการผลิตจากเกษตรกรไทยให้มากที่สุด


ก่อนหน้านี้ เนสท์เล่ได้รับคำตัดสินจากศาลอนุญาโตตุลาการสากลว่าเนสท์เล่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาการร่วมทุนอย่างครบถ้วน และการสิ้นสุดสัญญากับบริษัท QCP เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2567 ถูกต้องและมีผลสมบูรณ์ทางกฎหมาย แต่ผู้ถือหุ้นของบริษัท QCP คือ นายเฉลิมชัย มหากิจศิริและครอบครัว กลับยื่นขอคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจากศาลแพ่งมีนบุรี และต่อมาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ ทป 58/2568 มีคำสั่งว่า บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้า “Nescafé” ในประเทศไทย ซึ่งมีผลให้เนสท์เล่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจเนสกาแฟในประเทศได้ตามปกติตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2568


ทั้งนี้ เนสท์เล่จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ประกอบการรายย่อย คู่ค้าซัพพลายเออร์ ผู้บริโภค และเกษตรกรที่เราทำงานด้วยอย่างใกล้ชิด จะไม่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของผู้ถือหุ้นดังกล่าว


เนสท์เล่มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในระหว่างปี พ.ศ.2561 - 2567 เนสท์เล่ได้ลงทุนกว่า 22,800 ล้านบาทในประเทศไทย และเนสท์เล่จะยังคงเดินหน้าลงทุนเพื่อสร้างประโยชน์แก่ลูกค้า ผู้บริโภค พนักงานของเรา เกษตรกรที่ทำงานร่วมกับเรา ตลอดจนพันธมิตรทางธุรกิจของเราต่อไป


ทั้งนี้ขอตอบข้อสงสัยกรณีเนสกาแฟ


1. อยากให้สรุปเรื่องราวระหว่างเนสท์เล่กับตระกูลมหากิจศิริว่าเป็นอย่างไร


– เนสท์เล่ เป็นเจ้าของแบรนด์เนสกาแฟ เนสท์เล่ร่วมลงทุนกับฝั่งคุณประยุทธ มหากิจศิริ ทำโรงงานชื่อบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) เพื่อผลิตเนสกาแฟในประเทศไทย คุณประยุทธและครอบครัวถือหุ้นครึ่งหนึ่งในบริษัท QCP เนสท์เล่ก็ถือหุ้นอีกครึ่งหนึ่งและเป็นคนบริหารจัดการเรื่องการผลิต การจัดจำหน่าย และทำการตลาดผลิตภัณฑ์เนสกาแฟเองในประเทศไทย


สูตรกาแฟกับเทคโนโลยีการผลิต ก็เป็นของเนสท์เล่เองทั้งหมด พอบริษัท QCP หมดอายุสัญญากับเนสท์เล่ เนสท์เล่ก็ไม่ได้ต่อสัญญาเมื่อเดือนธันวาคม 2567 ศาลอนุญาโตตุลาการสากลก็ตัดสินว่า เนสท์เล่เลิกสัญญาร่วมทุน (Joint Venture) ถูกต้องแล้ว


แต่ฝั่งคุณเฉลิมชัย มหากิจศิริและครอบครัว กลับฟ้องคดีต่อศาลแพ่งมีนบุรี โดยที่เนสท์เล่ยังไม่ทันได้นำเสนอพยานหลักฐาน ซึ่งรวมถึงคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการสากลที่มีผลสมบูรณ์ทางกฎหมาย ก่อนที่ศาลแพ่งมีนบุรีจะมีคำสั่งห้ามเนสท์เล่ไม่ให้ผลิต ห้ามขาย ห้ามนำเข้าสินค้าเนสกาแฟในประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดเป็นผลกระทบเป็นวงกว้าง จนกระทั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568 ซึ่งทำให้เนสท์เล่กลับมาดำเนินธุรกิจเนสกาแฟได้ตามปกติ


2. เนสท์เล่จะดำเนินการทางกฎหมายต่อไปอย่างไร


- เนสท์เล่ จะทำทุกวิถีทางในทางกฎหมายเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ประกอบการธุรกิจ ผู้บริโภค และเกษตรกรที่เราทำงานด้วยอย่างใกล้ชิด จะไม่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของผู้ถือหุ้นบริษัท QCP ดังกล่าว


3. กรณีของเนสท์เล่กับตระกูลมหากิจศิริ เหมือนกับกรณีเจ้าของแบรนด์ดังและผู้ผลิตในประเทศไทยที่ยกเลิกสัญญากันในอดีตใช่หรือไม่


- มีข้อแตกต่างกันหลายประการ ซึ่งก็คือ เนสท์เล่ เป็นเจ้าของแบรนด์เนสกาแฟแต่เพียงผู้เดียว ตระกูลมหากิจศิริถือหุ้นครึ่งหนึ่งในบริษัท QCP ที่ทำหน้าที่ผลิตเนสกาแฟในประเทศไทย เนสท์เล่ก็ถือหุ้นอีกครึ่งหนึ่ง และเป็นคนบริหารจัดการเรื่องการผลิต การจัดจำหน่าย และทำการตลาดผลิตภัณฑ์เนสกาแฟเองในประเทศไทย สูตรกาแฟกับเทคโนโลยีการผลิตก็เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของเนสท์เล่ และทีมงานในสายการผลิตและการบริหารงานทั้งหมดก็เป็นทีมงานของเนสท์เล่


4. เนสท์เล่จะลงทุนสร้างโรงงานใหม่ในประเทศไทยใช่ไหม และจะสร้างที่ไหน


- เรามีความมุ่งมั่นที่จะผลิตเนสกาแฟในประเทศไทย แต่เรายังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ในขณะนี้


5. การที่เนสท์เล่ออกแถลงการณ์ว่าจะต้องหยุดส่งสินค้าชั่วคราว เป็นความตั้งใจของการตลาดเพื่อสร้างกระแสและขึ้นราคาสินค้าหรือไม่


- ไม่ใช่เลย เนสท์เล่ จำเป็นต้องหยุดส่งผลิตภัณฑ์เนสกาแฟทั้งหมดเป็นการชั่วคราว เนื่องจากคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลแพ่งมีนบุรีเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 เนสท์เล่ มีความห่วงใยผู้ประกอบการรายย่อย เกษตรกรไทย และคู่ค้าซัพพลายเออร์ตลอดห่วงโซ่คุณค่าที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลคุ้มครองชั่วคราว และเนสท์เล่ได้ทำทุกวิถีทางเพื่อแก้ไขสถานการณ์


6. คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลแพ่งมีนบุรีไม่มีผลบังคับใช้แล้วหรือ


- เรายึดตามคำตัดสินล่าสุดจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ที่ยืนยันว่าบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้า “Nescafé” ในประเทศไทย ทำให้เนสท์เล่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจเนสกาแฟในประเทศไทยได้ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2568


7. ทำไมบริษัท QCP ไม่สามารถผลิตผลิตภัณฑ์เนสกาแฟได้อีก


- เพราะสัญญาระหว่าง เนสท์เล่กับบริษัท QCP สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2567 โดยมีผลสมบูรณ์ทางกฎหมายตามคำตัดสินจากศาลอนุญาโตตุลาการสากล ดังนั้น บริษัท QCP จึงไม่มีสิทธิในการผลิตผลิตภัณฑ์เนสกาแฟอีกต่อไป


หลังจากนั้นมา เนสท์เล่ก็ได้จัดหาผลิตภัณฑ์เนสกาแฟเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคไทย ด้วยการว่าจ้างบริษัทในประเทศไทยให้ช่วยผลิตผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ พร้อมทั้งนำเข้าผลิตภัณฑ์บางส่วนจากประเทศอื่นเป็นการชั่วคราว จนกว่าเนสท์เล่จะสามารถกลับมาดำเนินการผลิตเนสกาแฟในประเทศได้อีกครั้ง


เนสท์เล่ มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยและจะยังคงเดินหน้าลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภค พนักงานของเรา เกษตรกรที่ทำงานร่วมกับเรา ตลอดจนพันธมิตรทางธุรกิจ และคู่ค้าของเรา

ด้านครอบครัวมหากิจศิริ ได้ออกมาโต้แย้งดังนี้


1. อยากสรุปเรื่องราวระหว่างเนสท์เล่กับตระกูลมหากิจศิริว่าเป็นอย่างไร?


เนสท์เล่ตอบ : เนสท์เล่เป็นเจ้าของแบรนด์เนสกาแฟ เนสท์เล่ร่วมลงทุนกับฝั่งนายประยุทธ มหากิจศิริ ทำโรงงานชื่อ บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) เพื่อผลิตเนสกาแฟในประเทศไทย นายประยุทธและครอบครัวถือหุ้นครึ่งหนึ่งในบริษัท QCP ทางเนสท์เล่ก็ถือหุ้นอีกครึ่งหนึ่ง และเป็นคนบริหารจัดการเรื่องการผลิต การจัดจำหน่าย และทำการตลาดผลิตภัณฑ์เนสกาแฟเองในประเทศไทย


มหากิจศิริโต้แย้ง : ถึงแม้สูตรกาแฟกับเทคโนโลยีการผลิตจะเป็นของเนสท์เล่เองทั้งหมด แต่ก็เป็นเงินที่บริษัท QCP จ่ายให้เนสท์เล่เป็นเงินหลายหมื่นล้านบาทในระยะเวลาที่ผ่านมา


พอบริษัท QCP หมดอายุสัญญากับเนสท์เล่ ทางเนสท์เล่ก็ไม่ได้ต่อสัญญา เมื่อเดือนธันวาคม 2567 ศาลอนุญาโตตุลาการสากลก็ตัดสินว่า เนสท์เล่เลิกสัญญาร่วมทุน (Joint Venture) กับนายประยุทธ มหากิจศิริเพียงคนเดียว


ฝั่งมหากิจศิริ โต้แย้ง : เนสท์เล่เลิกสัญญาร่วมทุน (Joint Venture) กับนายประยุทธ มหากิจศิริ เพียงคนเดียว (ซึ่งไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายไทย) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายประยุทธ มหากิจศิริ ถือหุ้นเพียง 3% เท่านั้น โดยไม่มีผลผูกพัน นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ ซึ่งถือหุ้นใหญ่สุด 47% และยังไม่ผูกพันบริษัทQCP ด้วย 100%


สิ่งที่เนสท์เล่พาดพิงจากข้อพิพาทกับนายประยุทธ์ ในเรื่องเลิกสัญญานี้ จึงเป็นการบิดเบือนอย่างไม่น่าให้อภัย


เพื่อปกป้องคุ้มครองความถูกต้อง นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ และครอบครัว จึงฟ้องคดีต่อศาลแพ่งมีนบุรี เพื่อคุ้มครองและขอความเป็นธรรม


โดยมีคำสั่งห้ามเนสท์เล่ ซึ่งยังถือหุ้นร่วมกันอยู่ 50 : 50% เท่ากัน “ไม่ให้ผลิต ห้ามขาย ห้ามนำเข้าสินค้า เนสกาแฟมาจำหน่ายในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ทำให้เนสท์เล่ไม่สามารถนำเข้าสินค้าเนสกาแฟจากต่างประเทศมาแย่งอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศไทยได้


ยิ่งกว่านั้น เนสท์เล่ไม่เคารพคำสั่งศาลไทย โดยมีการดิ้นรนด้วยความโลภ และไปฟ้องศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568 และมีการบิดเบือนเพื่อให้สังคมเข้าใจผิดอีกว่า “ให้เนสท์เล่กลับมาดำเนินธุรกิจเนสกาแฟได้ตามปกติ (ซึ่งศาลท่านไม่ได้มีคำสั่งเช่นนั้น)”


2. เนสท์เล่จะดำเนินการทางกฎหมายต่อไปอย่างไร?


เนสท์เล่ตอบ : เนสท์เล่ จะทำทุกวิถีทางในทางกฎหมายเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ประกอบการธุรกิจ ผู้บริโภค และเกษตรกรที่เราทำงานด้วยอย่างใกล้ชิด จะไม่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของผู้ถือหุ้นบริษัท QCP ดังกล่าว


มหากิจศิริ โต้แย้ง : เนสท์เล่ มุ่งทำทุกวิถีทางในทางกฎหมาย เพื่อให้มากอบโกยผลประโยชน์จากประเทศไทยเรา โดยการนำเข้ากาแฟจากต่างชาติมาขายในประเทศไทยก่อน เพื่อผลประโยชน์เข้าเนสท์เล่คนเดียว 100% ได้ทันที


3. กรณีของเนสท์เล่กับตระกูลมหากิจศิริ เหมือนกับกรณีเจ้าของแบรนด์ดังและผู้ผลิตในประเทศไทยที่ยกเลิกสัญญากันในอดีตใช่หรือไม่?


เนสท์เล่ตอบ : มีข้อแตกต่างกันหลายประการ ซึ่งก็คือ เนสท์เล่ เป็นเจ้าของแบรนด์เนสกาแฟแต่เพียงผู้เดียว ตระกูลมหากิจศิริถือหุ้นครึ่งหนึ่งในบริษัท QCP ที่ทำหน้าที่ผลิตเนสกาแฟในประเทศไทย ทางเนสท์เล่ก็ถือหุ้นอีกครึ่งหนึ่ง และเป็นคนบริหารจัดการเรื่องการผลิต การจัดจำหน่าย และทำการตลาดผลิตภัณฑ์เนสกาแฟเองในประเทศไทย สูตรกาแฟกับเทคโนโลยีการผลิต ก็เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของเนสท์เล่ และทีมงานในสายการผลิตและการบริหารงานทั้งหมดก็เป็นทีมงานของเนสท์เล่

มหากิจศิริโต้แย้ง : แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ “เป็นการใช้เงินของบริษัท QCP ในการได้มาทั้งสิ้น"


4. เนสท์เล่จะลงทุนสร้างโรงงานใหม่ในประเทศไทยใช่ไหม และจะสร้างที่ไหน

เนสท์เล่ตอบ : เรามีความมุ่งมั่นที่จะผลิตเนสกาแฟในประเทศไทย แต่เรายังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ในขณะนี้

มหากิจศิริ โต้แย้ง : เพราะทางเนสท์เล่ กำลังหาช่องทางที่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทั้งหมดให้เป็นของเนสท์เล่


5. การที่เนสท์เล่ออกแถลงการณ์ว่า จะต้องหยุดส่งสินค้าชั่วคราว เป็นความตั้งใจของการตลาดเพื่อสร้างกระแสและขึ้นราคาสินค้าหรือไม่?


เนสท์เล่ตอบ : ไม่ใช่เลย ทางเนสท์เล่ จำเป็นต้องหยุดส่งผลิตภัณฑ์เนสกาแฟทั้งหมดเป็นการชั่วคราว เนื่องจากคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลแพ่งมีนบุรี เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568

มหากิจศิริ โต้แย้ง : ที่จริงแล้ว เนสท์เล่ ไม่มีความห่วงใยผู้ประกอบการรายย่อย เกษตรกรไทย และคู่ค้า ซัพพลายเออร์ ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของศาลแต่อย่างไร


6. คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลแพ่งมีนบุรีไม่มีผลบังคับใช้แล้วหรือ?


เนสท์เล่ตอบ : เรายึดตามคำตัดสินล่าสุดจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ที่ยืนยันว่า บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้า “Nescafé” ในประเทศไทย ทำให้เนสท์เล่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจเนสกาแฟในประเทศไทยได้ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2568


มหากิจศิริ โต้แย้ง : คำชี้แจงดังกล่าว เป็นการบิดเบือนอย่างน่าละอายใจมาก ที่กล่าวว่า เนสท์เล่ สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจเนสการแฟในประเทศไทยได้ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2568 ถือเป็นการบิดเบือนของเนสท์เล่และไม่เคารพคำสั่งศาลด้วย


7. ทำไมบริษัท QCP ไม่สามารถผลิตผลิตภัณฑ์เนสกาแฟได้อีก?


เนสท์เล่ตอบ : เพราะสัญญาระหว่าง เนสท์เล่กับบริษัท QCP สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2567 โดยมีผลสมบูรณ์ทางกฎหมายตามคำตัดสินจากศาลอนุญาโตตุลาการสากล ดังนั้น บริษัท QCP จึงไม่มีสิทธิในการผลิตผลิตภัณฑ์เนสกาแฟอีกต่อไป หลังจากนั้นมา เนสท์เล่ก็ได้จัดหาผลิตภัณฑ์เนสกาแฟเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคไทย ด้วยการว่าจ้างบริษัทในประเทศไทยให้ช่วยผลิตผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ พร้อมทั้งนำเข้าผลิตภัณฑ์บางส่วนจากประเทศอื่นเป็นการชั่วคราว จนกว่าเนสท์เล่จะสามารถกลับมาดำเนินการผลิตเนสกาแฟในประเทศได้อีกครั้ง

มหากิจศิริ โต้แย้ง : เป็นการบิดเบือนความจริงตามที่กล่าวมาแล้ว


8. มหากิจศิริ (เพิ่มเติม)

ที่เลวร้ายที่สุด เนสท์เล่ต้องการทำลายธุรกิจกาแฟ ที่ครอบครัวมหากิจศิริ สร้างมากว่า 50 ปีให้กลายเป็น 0 ทั้งๆ ที่เนสท์เล่ก็ร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย 50% เพื่อมุ่งผลประโยชน์โดยการนำเข้ากาแฟจากต่างประเทศมาจำหน่ายแทน เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ไปเป็นของเนสท์เล่ฝ่ายเดียว 100% ถือเป็นการรังแกคนไทย และเอาเปรียบคนไทย และไม่ชอบธรรม ผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง


ความเป็นจริง ในเมื่อเนสท์เล่และมหากิจศิริ มีความเห็นต่างในเชิงธุรกิจ ก็หย่ากันได้ แยกทางกันได้ แต่จะฆ่าลูกไม่ได้


ในกรณีนี้ เนสท์เล่เลิกสัญญาแล้ว ต้องการฆ่าลูกทิ้ง โดยมีการไปฟ้องให้บริษัท QCP ล้มละลาย เป็นการทำลายทรัพย์สินของคนไทย


ทั้งๆ ที่บริษัท QCP มีทรัพย์สินอยู่ร่วมหมื่นกว่าล้านบาท และมีเงินสดอยู่ 5,000 กว่าล้านบาท จะฟ้องให้บริษัท QCP ล้มละลายได้อย่างไร ถือเป็นการจงใจกลั่นแกล้งบริษัทในประเทศไทย


ที่จริงแล้ว ควรให้บริษัท QCP ผลิตเนสกาแฟต่อ หรือผลิตกาแฟยี่ห้อ QCP เองก็ได้ เพื่อสนองความต้องการของตลาดในราคาที่ถูกลงได้ เพราะไม่ต้องจ่ายค่าชื่อสินค้า เนสกาแฟอีกต่อไป