MENU

ก.ล.ต.กางผลงาน 4 เดือนแรกปี 68 ฟันอาญา-แพ่ง 15 คดี ปิดบัญชีม้าดิจิทัลรวม 2.7 หมื่นบัญชี

 8 พ.ค. 2568 00:00

ก.ล.ต. เดินหน้าใช้มาตรการลงโทษทางกฎหมายเข้มงวด 4 เดือนแรกปี 68 ฟันคดีอาญา - แพ่งแล้ว 15 คดี รวมผู้กระทำผิด 68 ราย ปิดแพลตฟอร์มมิจฉาชีพหลอกลงทุน 1,849 บัญชี พร้อมปิดบัญชีม้าสินทรัพย์ดิจิทัลอีกกว่า 2.7 หมื่นบัญชี ขณะที่กองทุน Thai ESG ฮอต NAV เฉียด 3.5 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 67 กว่า 17.42%


นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยในงาน Media Briefing เดือนพฤษภาคม 2568 ว่า ก.ล.ต. ได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายแก่ผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2568 (ม.ค. - เม.ย.) มีการดำเนินคดีอาญาแล้วรวม 7 คดี ผู้กระทำผิดรวม 26 ราย ประกอบด้วย การกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์/สินทรัพย์ดิจิทัล (การสร้างราคา, การใช้ข้อมูลภายใน, การแพร่ขาว/ข้อความเท็จ และ Front run) จำนวน 8 คดี ผู้กระทำผิด 31 ราย การแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญ 1 คดี ผู้กระทำผิด 3 ราย และการประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต 2 คดี ผู้กระทำผิด 4 ราย


ขณะที่การดำเนินการตามมาตรการลงโทษทางแพ่ง คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) ใช้มาตรการลงโทษ รวม 8 คดี ผู้กระทำผิดรวม 42 ราย ประกอบด้วย การแพร่ข่าว/ข้อความเท็จ 1 คดี ผู้กระทำผิด 2 ราย การสร้างราคา 4 คดี ผู้กระทำผิด 26 ราย การใช้ข้อมูลภายใน/การเปิดเผยข้อมูลภายใน 2 คดี ผู้กระทำผิด 12 ราย และการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ/ปกปิดข้อความจริง 1 คดี ผู้กระทำผิด 2 ราย


สำหรับมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้มีการตกลงทำบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งตามที่ ค.ม.พ. กำหนด ในช่วง 4 เดือนแรก ของปี 2568 รวม 4 คดี ผู้กระทำผิด 14 ราย ค่าปรับทางแพ่ง 14.14 ล้านบาท และค่าชดใช้เงินเท่าผลประโยชน์ที่ได้รับ 10.20 ล้านบาท โดยยอดรวมตั้งกฎหมายมีผลบังคับใช้ (2560 - 30 เม.ย. 68) รวมทั้งสิ้น 71 คดี ผู้กระทำผิด 291 ราย ค่าปรับทางแพ่งรวม 2,046.28 ล้านบาท และค่าชดเชยเงินเท่าผลประโยชน์ที่ได้รับรวม 396.72 ล้านบาท


ส่วนความคืบหน้าคดีที่ ก.ล.ต. ได้ยืนฟ้องศาลเพื่อให้ศาลกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งนั้น คดีที่พิพากษาถึงที่สุดแล้ว 6 คดี ศาลพิพากษาให้ ก.ล.ต. ชนะทั้งหมด โดยลงโทษและกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งแก่จำเลยในอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น/ศาลอุทธรณ์ รวม 15 คดี แบ่งเป็น 11 คดี อยู่ระหว่างศาลชั้นต้น และ 4 คดี อยู่ระหว่างอุทธรณ์ ซึ่งทั้ง 4 คดี ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ ก.ล.ต. ชนะคดี


ด้านมาตรการป้องกันมิจฉาชีพหลอกลวงลงทุนนั้น ช่วง 4 เดือนแรก ก.ล.ต. ได้รับแจ้งเบาะแสการหลอกลงทุนผ่าน "สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน" จำนวน 2,735 ครั้ง โดยมีบัญชีโชเซียลเข้าข่ายหลอกลงทุนที่ประสานผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและหน่วยงานภาครัฐเปิดกั้น 1,849 บัญชี และมีการให้คำปรึกษาแก่ผู้เสียหายจากการหลอกลงทุนไปแล้ว 886 ครั้ง


ส่วนมาตรการจัดการบัญชีม้าสินทรัพย์ดิจิทัลและปิดกั้นแพลตฟอร์มที่ไม่ได้รับอนุญาต หลังพ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล และพ.ร.ก.อาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ ฉบับแก้ไขมีผลบังคับใช้ 13 เม.ย. 68 ที่ผ่านมา ข้อมูลจากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) พบ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ระงับบัญชีต้องสงสัยเป็นบัญชีม้าแล้ว จำนวน 27,000 บัญชี รวมมูลค่าสินทรัพย์มากกว่า 169.26 ล้านบาท (ณ 18 เม.ย.)


นายเอนก กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วง 4 เดือนแรกของปีตลาดทุนไทยได้รับปัจจัยบวกจากกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ณ สิ้นเดือนเม.ย. 2568 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) รวมอยู่ที่ 34,745 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2567 ถึง 17.42% สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจและการตอบรับที่ดีของนักลงทุนต่อการลงทุนในธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน โดยเฉพาะกองทุนที่มีนโยบายเน้นลงทุนในตราสารหนี้มีการเติบโตสูงถึง 31.42%


ส่วนความคืบหน้ากรณีการบังคับใช้มาตรการทางแพ่งกับนายจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ และสั่งห้ามเป็นผู้บริหารใน บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN แต่ปัจจุบันยังยืนยันที่จะดำรงตำแหน่งอยู่นั้น นายเอนก กล่าวว่า ถือเป็นกรณีที่ไม่ปกติ เนื่องจากโดยทั่วไปผู้บริหารที่ถูก ก.ล.ต. ชี้มูลความผิดส่วนใหญ่จะรับผิดชอบลาออกจากตำแหน่งเอง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อรักษาภาพลักษณ์ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ซึ่งบจ.ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาล


อย่างไรก็ตาม มาตรการลงโทษดังกล่าวยังไม่มีผลเบ็ดเสร็จ เพราะผู้กระทำผิดยังไม่เซ็นยินยอมรับผิด ซึ่งกระบวนการทางแพ่งจะต้องได้รับการยินยอมทั้ง 2 ฝ่าย ขณะนี้ ก.ล.ต. ยังให้ระยะเวลาในการตัดสินใจ หากไม่ยินยอม ก.ล.ต.จะดำเนินส่งเรื่องต่ออัยการเพื่อฟ้องศาลต่อไป