
ครม.ไฟเขียวขยายคุณสมบัติลูกหนี้เข้าร่วม “คุณสู้ เราช่วย” เฟส 2 คาดลูกหนี้เข้าร่วม 3.1 แสนล้าน
1 ก.ค. 2568 00:00ครม.อนุมัติโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" เฟส 2 พร้อมเพิ่มมาตรการใหม่ "จ่าย ตัด ต้น" ช่วยลูกหนี้เอ็นพีแอลสินเชื่อไม่มีหลักประกัน วงเงินค้างไม่เกิน 5 หมื่นบาท ผ่อนชำระ 2% ของเงินต้นคงค้าง 3 ปี มั่นใจลูกหนี้เข้าร่วมโครงการกว่า 1.8 ล้านราย รวมมูลหนี้กว่า 3.1 แสนล้านบาท เปิดให้ลูกหนี้เข้าโครงการตั้งแต่วันนี้ถึง 30 ก.ย. 68 ขณะที่สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก พร้อมช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันนี้ (ๅ ก.ค. 68) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขยายคุณสมบัติของลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ซึ่งจะช่วยเหลือลูกหนี้ได้ทุกกลุ่มและช่วยเหลือประชาชนมากขึ้นไปกว่าเดิม ดังนี้
1. การขยายคุณสมบัติมาตรการ ‘จ่ายตรง คงทรัพย์’ : ขยายให้รวมถึงลูกหนี้ที่ค้างชำระมากกว่า 365 วัน และลูกหนี้ที่ค้างชำระตั้งแต่ 1 - 30 วัน โดยเคยมีการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งประเภทลูกหนี้และวิธีการให้ความช่วยเหลือยังคงเหมือนเดิม คือ
1.1. ประเภทลูกหนี้ : (1.) ลูกหนี้สินเชื่อบ้านและ/หรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภาระเป็นหลักประกัน (Home for Cash) ที่มีวงเงินรวมต่อสถาบันการเงินไม่เกิน 5,000,000 บาท
(2.) สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และ/หรือสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ (Car for cash) มีวงเงินรวมต่อสถาบันการเงินไม่เกิน 800,000 บาท และสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ และ/หรือCar for cash มีวงเงินรวมต่อสถาบันการเงิน 50,000 บาท
(3.) สินเชื่อธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีสถานะเป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่มีวงเงินรวมต่อสถาบันการเงินไม่เกิน 5,000,000 บาท
1.2. วิธีการช่วยเหลือ : ลดการผ่อนค่างวดในช่วงระยะเวลา 3 ปี โดยในปีที่ 1 ชำระค่างวดร้อยละ 50 ปีที่ 2 ชำระค่างวดร้อยละ 70 และปีที่ 3 ชำระค่างวดร้อยละ 90 ของค่างวดก่อนเข้าร่วมมาตรการ และยกเว้นดอกเบี้ยให้หากลูกหนี้สามารถทำตามเงื่อนไขของมาตรการได้ครบ 3 ปี
2. การขยายยอดคงค้างหนี้และประเภทหนี้ตามมาตรการ ‘จ่าย ปิด จบ’ ขยายให้ครอบคลุมภาระหนี้จำนวน 10,000 บาท หากเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (Unsecured Loan) และ 30,000 บาท หากเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน (Secured Loan) ซึ่งวิธีการให้ความช่วยเหลือยังคงเหมือนเดิม คือ ลูกหนี้จ่ายเพียง 10% เพื่อเป็นการชำระหนี้ปิดบัญชีทันที
3. การเพิ่มมาตรการใหม่ ‘จ่าย ตัด ต้น’ เพื่อให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ NPLs ที่มีสินเชื่อไม่มีหลักประกัน (Unsecured Loan) ที่มียอดหนี้คงค้างไม่เกิน 50,000 บาทต่อบัญชี โดยการปรับโครงสร้างหนี้ให้มีเงื่อนไขเป็นการผ่อนชำระคืนเป็นงวด (Term Loan) และกำหนดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำที่ร้อยละ 2 ของยอดคงค้าง เป็นระยะเวลา 3 ปี และยกเว้นดอกเบี้ยให้เลยหากลูกหนี้สามารถทำตามเงื่อนไขได้ครบ 3 ปี
ทั้งนี้ คาดว่าการขยายโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” นี้จะช่วยเหลือลูกหนี้ได้เพิ่มเติมอีกกว่า 1.8 ล้านราย หรือ 2.0 ล้านบัญชี ยอดสินเชื่อคงค้างรวม 310,000 ล้านบาท โดยขยายระยะเวลารับสมัครเข้าร่วมโครงการถึง 30 กันยายน 2568
สมาคมธนาคารไทย พร้อมขับเคลื่อนโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เฟส 2
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก สนับสนุนนโยบายภาครัฐ ในการขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ โดยเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินของกลุ่มเปราะบางที่เป็นลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผ่านโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ที่ได้ดำเนินการในระยะที่ 1 ตั้งแต่ 12 ธันวาคม 2567 และพร้อมให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม ภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ระยะที่ 2 ที่ได้ปรับปรุงเงื่อนไขของมาตรการเดิมและเพิ่มมาตรการใหม่ เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางได้ครอบคลุมมากขึ้น ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และยังมีลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก
ทั้งนี้ โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ได้เป็นจุดตั้งต้นของการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม สอดประสานกับมาตรการ responsible lending ของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นมาตรการชั่วคราวที่ยาวถึง 3 ปี ที่เพียงพอในการสนับสนุนและรองรับกับมาตรการระยะถัดไปของภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการในการสร้างรายได้ ความสามารถในการแข่งขัน และเสริมสวัสดิการที่จำเป็น รวมถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบและหนี้นอกระบบ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถฟื้นตัวได้อย่างมีศักยภาพ และไม่ใช่การแก้ไขปัญหา ที่ปลายเหตุ
ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการภายใต้โครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 สามารถศึกษารายละเอียดและสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่ https://www.bot.or.th/khunsoo ตั้งแต่วันนี้จนถึง วันที่ 30 กันยายน 2568 หรือติดต่อสาขาของสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการฯ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ Call center ของสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการฯ หรือ BOT contact center ของ ธปท. โทร. 1213