
ก.ล.ต. ฟันแพ่ง “พีรเจต สุวรรณนภาศรี” อดีตผู้บริหาร GIFT ปมตั้งบริษัทแข่งฉุดรายได้ทรุด
11 ก.ค. 2568 00:00ก.ล.ต. ลงโทษทางแพ่ง “พีรเจต สุวรรณนภาศรี” อดีตกรรมการ - ผู้บริหาร บมจ.กิฟท์ อินฟินิท (GIFT) ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต กรณีตั้งบริษัททำธุรกิจแข่งขันกับกิจการโดยตรง สั่งปรับรวม 982,265 บาท พร้อมกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตรวจสอบพบว่า งบการเงินประจำปี 2564 ของบริษัท กิฟท์ อินฟินิท กิฟท์ อินฟินิท จำกัด (มหาชน) หรือ GIFT (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท อาร์เอสเอ็กซ์วายแซด จำกัด (มหาชน) หรือ XYZ) มีผลประกอบการลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จึงได้ตรวจสอบเชิงลึก พบว่า ในช่วงปี 2562 - 2563 นายพีรเจต สุวรรณนภาศรี (ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารของ GIFT) ได้ให้กลุ่มอดีตพนักงานขายของ GIFT ก่อตั้งบริษัท แกรททิทูด โกลบอล จำกัด (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท กลูมมิ่ง โกลบอล จำกัด หรือ บจก. กลูมมิ่ง) ซึ่งคล้ายกับชื่อเดิมของ GIFT (คือ บริษัท แกรททิทูด อินฟินิท จำกัด (มหาชน)) เพื่อประกอบกิจการอันมีสภาพอย่างเดียวกันกับ GIFT และเป็นการแข่งขันกับกิจการของ GIFT โดยตรง
โดยพบพยานหลักฐานว่า นายพีรเจต ได้โอนเงินชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนในช่วงที่มีการก่อตั้ง บจก. กลูมมิ่ง และมีความสัมพันธ์รู้จักและเกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นและผู้บริหารของ บจก. กลูมมิ่ง ซึ่งการก่อตั้ง บจก. กลูมมิ่ง ดังกล่าว ส่งผลให้ผลประกอบการและรายได้ของ GIFT ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และนายพีรเจต ยังได้รับประโยชน์จากการประกอบกิจการ บจก. กลูมมิ่ง ผ่านการกู้ยืมเงินของกรรมการและผู้บริหาร ซึ่งเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับนายพีรเจต
การกระทำของนายพีรเจต เป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต จนเป็นเหตุให้ GIFT ได้รับความเสียหาย หรือทำให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการฝ่าฝืนไม่ปฎิบัติหน้าที่ตามมาตรา 89/7 อันเป็นความผิดและมีระวางโทษตามมาตรา 281/2 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรการลงโทษทางแพ่งตามมาตรา 317/4 และมาตรา 317/5 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับนายพีรเจต โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งให้นายพีรเจต ชำระค่าปรับทางแพ่ง และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 982,265 บาท และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 30 เดือน
มาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนดจะมีผลเมื่อผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนดหากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติ โดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด
ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง