MENU

เอเซีย พลัส ตั้งเป้า SET ปี 68 ที่ระดับ 1,376 จุด แนะจับตา 4 ปัจจัยเสี่ยง

 22 ก.ค. 2568 00:00

บล.เอเซีย พลัส (ASPS) ประเมินดัชนี SET ปลายปี 68 ที่ระดับ 1,376 จุด พร้อมแนะจับตา 4 ปัจจัยเสี่ยง ขณะที่กลยุทธ์การลงทุน กระจายหลายอุตสาหกรรม และกลุ่ม High Dividend Yield หรือ Profit Growth


นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (ASPS) เปิดเผยถึง แนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ว่า ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง จากนโยบายการคลังที่น่าจะมีมาตรการกระตุ้นออกมาตามหลังการเบิกจ่ายงบประจำปี 69 รวมทั้งแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง นอกจากนี้ แนวโน้ม EPS ครึ่งปีหลังยังมีอัพไซด์จาก บมจ.การบินไทย (THAI) กลับเข้าเทรด และบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ที่มีธุรกรรมขนาดใหญ่จากการปรับกลยุทธ์ธุรกิจ หนุน EPS ปีนี้ทะลุ 90 บาทต่อหุ้นไปได้


ส่วนประเด็นที่นายวิทัย รัตนากร ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แทนนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ที่จะมีผล1 ต.ค. นั้น นายเทิดศักดิ์ กล่าว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าฯ คนใหม่ หรือคนก่อนหน้า หากประเมินจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันก็จะเห็นว่ามีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง แต่ส่วนหนึ่งถูกสะท้อนผ่านตลาดไปแล้วจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลง และเงินบาทค่อนข้างแข็งค่า ประกอบการเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ มีประสิทธิภาพลดลง ยิ่งหากไทยถูกเรียกเก็บอัตราภาษีนำเข้าจากสหรัฐในอัตราสูง จะกระทบภาคการส่งออกชะลอตัวในช่วงครึ่งปีหลัง


"ตอนนี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการลดดอกเบี้ย เพราะว่าสภาพแวดล้อมเป็นตัวเอื้อ ยังมีรูมมากพอในการขยับลดดอกเบี้ยได้ มองโอกาสลดได้อาจจะ 1 - 2 ครั้งในปีนี้ หากลดดอกเบี้ย ทุกๆ 0.25% อาจเป็น Upside ตลาดได้ประมาณ 70 จุด" นายเทิดศักดิ์ กล่าว


อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามหลายปัจจัยเสี่ยง หลังจากครึ่งปีแรก SET ร่วงลงไปถึง 23% จาก 4 ปัจจัย คือ 1. สงครามตะวันออกกลาง ปัจจุบันสงบลงชั่วคราว กระทบน้อยลง 2. ข้อพิพาทไทย - กัมพูชา ลดระดับเหลือแค่ "สงครามโซเชียล" 3. การเมืองในประเทศ ไม่น่ากระทบงบประมาณ 2569 4. ภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ตลาดซึมซับประเด็นด้านลบไปมากแล้ว


นายเทิดศักดิ์ กล่าวว่า ตลาดรอความชัดเจนระยะถัดไปว่าข้อสรุปสุดท้ายแต่ละประเทศถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราเท่าไร หากไทยถูกเก็บสูงกว่าประเทศอื่นๆ อาจเกิด Technical Recession ได้ จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินและการคลัง เพื่อพยุงเศรษฐกิจ ขณะที่ผลกระทบต่อรายได้และกำไรของบริษัทจดทะเบียนหากประเมินจากหุ้น 4 กลุ่มหลักที่มีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ กลุ่มเกษตร อาหาร ปิโตรเคมี และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาจกระทบรายได้รวมประมาณ 3.1% และกำไรรวม 1.1% ถือว่าไม่มาก ดังนั้นความกังวลว่าจะกดดันหุ้นไทยลงไปถึง 1,056 จุด น่าจะผ่านไปแล้ว และไม่น่าจะทำจุดต่ำสุดใหม่ในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ก็อาจกระทบในแง่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หากไทยเผชิญอัตราภาษีสูงกว่าประเทศใกล้เคียง


"มองว่าถ้าเรายังยืน 36% ขณะที่เวียดนามอยู่ที่ 20% อินโดนีเซียอยู่ที่ 19% เราอยู่ในเชิงที่ค่อนข้างเสียเปรียบโอกาสที่เม็ดเงินลงทุนใหม่ๆ จะไหลเข้ามายากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงตรงนี้ไม่ใช่ฉับพลันทันที เรายังมีเม็ดเงินจาก BOI ที่คงค้างในระบบค่อนข้างมาก เชื่อว่าน่าจะเห็นการลงทุนต่อในอีกสักระยะหนึ่ง"


นายภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้อำนวยการสายงานวิจัย กล่าวว่า แนวโน้มกำไร บจ.ไตรมาส 2/68 คาดทรงตัว QoQ อยู่ที่เฉลี่ย 2.62 แสนล้านบาทต่อไตรมาส และประเมินกำไรทั้งปีที่ 1.06 ล้านล้านบาท หรือ 86 บาท/หุ้น (เติบโต 17% YOY) มีโอกาสเป็นไปได้ และถือว่า Conservative กว่า BLOOMBERG CONSENSUS ส่วน Sector ที่กำไรเติบโตต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 2 ถึง 3 มักจะปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วงไตรมาสที่ 3 อาทิ กลุ่ม ETRON, HELTH, PROP และ TRANS เป็นต้น


ขณะที่ในแง่เม็ดเงินลงทุนต่างชาติมีแนวโน้มดีขึ้น หลังจากครึ่งปีแรกไหลออกจากภูมิภาคเอเชียค่อนข้างมาก แต่หุ้นไทยร่วงหนักกว่าภูมิภาค เนื่องจากมีแรงขายจากกองทุน LTF ที่คงค้างในระบบเสริมไปด้วย รวมทั้งสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยลดน้อยลงจากประเด็นความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นไทยที่หายไป แต่เชื่อว่าครึ่งปีหลังแนวโน้มจะดีขึ้น ไตรมาส 3/68 คาดหวังว่าแรงขายจากนักลงทุนสถาบัน - ต่างชาติ จะเบาลงตามยอดเม็ดกองทุน LTF ที่อยู่เพียง 1.17 แสนล้านบาท


รวมทั้งหลายบริษัทมีการซื้อหุ้นคืนเป็นสัญญาณเรียกความเชื่อมั่น ขณะเดียวกัน แรงกดดัน Margin Call คลี่คลายเนื่องจากยอดคงค้าง Margin ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเข้าสู่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด สะท้อนว่าแรงกดดันจาก Force Sell จะน้อยลง


นอกจากนี้ การที่หุ้นไทยกลับมาให้ผลตอบแทนดีสุดในโลกรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา เพิ่มโอกาสที่ MSCI และ FTSE จะปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในการทบทวนรอบเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งจะช่วยดึงดูดเม็ดเงินจากกองทุนต่างชาติให้ไหลกลับเข้ามา


ฝ่ายวิจัยฯ ประเมินเป้าหมาย SET ปลายปี 68 แบบอนุรักษ์นิยมภายใต้ EPS ที่ 86 บาทต่อหุ้น, อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.75% อิง MEYG 4.50% (+1 SD) ได้เป้าหมายที่ 1,376 จุด มีอัพไซด์จากระดับปัจจุบันในช่วง 1,140 - 1,170 จุดพอสมควร กลยุทธ์การลงทุน แนะนำกระจายหลายอุตสาหกรรม และมี High Dividend Yield หรือ Profit Growth 68 เติบโต อย่าง PTT, SCC, CPALL, BDMS, TRUE และ PLANB