MENU

5 หนังรถซิ่ง ที่ไม่ได้มีแค่ Fast

 18 พ.ค. 2566 00:00

เดินทางมาถึงภาคที่ 10 แล้ว สำหรับแฟรนไชส์ FAST & FURIOUS ที่นับวันยิ่งทวีคูณความบ้าหลุดโลกมากทุกที จนทำเอาแฟน ๆ หลายคนอดนึกถึงช่วงเวลาเก่าๆ สมัยที่ยังเป็นหนังนักเลงซิ่งรถไม่ได้ ซึ่งหากมองที่แก่นจริง ๆ แล้ว หนังแฟรนไชส์นี้ดูเหมือนจะไม่ใช่หนังรถแข่งมาตั้งแต่เริ่ม เพียงแต่ผู้สร้างได้ใช้องค์ประกอบของการซิ่งรถ มาแทรกอยู่ในหนังแนวแอ็คชั่น-อาชญากรรม ได้อย่างลงตัว



จนดูเหมือนจะมีแค่หนังภาค 3 อย่าง The Fast and the Furious: Tokyo Drift เท่านั้น ที่โฟกัสไปที่การแข่งขันจริง ๆ เอาชนะด้วยการซิ่งรถ ไม่ใช่โดยกำลัง แต่หากเทียบรายได้กับภาคอื่น ๆ แล้ว ก็ดูจะไม่ใช่สิ่งที่แฟน ๆ คาดหวังจากแฟรนไชส์นี้เท่าไหร่ แต่ว่าหนังรถซิ่งเองก็ไม่ได้มีแค่Fastเท่านั้น ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาได้มีหนังรถซิ่งเจ๋ง ๆ มากมาย แล้ววันนี้เราจะพามาดู 5 หนังรถซิ่งที่โดนใจคนรักความเร็ว


1. Baby Driver


หนังรถซิ่งจากผู้กำกับสุดแนวอย่าง เอ็ดการ์ ไรต์ ในปี 2017ที่หยิบเอาผลงานมาสเตอร์พีสของ นิโคลัส ไวดิง รีฟิน อย่าง  “Drive” มาดัดแปลงใหม่แล้วใส่สไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ของเขาลงไป จากที่เป็นหนังดราม่า-อาชญากรรมสุดเครียด พร้อมกับพระเอกหน้านิ่ง ๆ ไม่แสดงอารมณ์แบบ ไรอัน กอสลิง จนเกิดเป็นหนังอาชญากรรม-ซิ่งรถ ที่ใส่ความตลกสถานการแบบเอ็ดการ์ ไรต์ และเสียงเพลงยุค 70s-80s เหมือน Guardians of the Galaxy เข้ามา


Baby Driver เป็นเรื่องราวของเบบี้ เด็กหนุ่มที่ทำงานเป็นคนขับรถให้กับแก๊งอาชญากรในเมือง แต่เขามีปัญหาในการได้ยินเสียงวี้ในหูอยู่ตลอดเวลาจากอุบัติเหตุในวัยเด็ก ทำเขาต้องใช้เสียงเพลงในการดึงสมาธิกลับมาเวลาทำงาน วันหนึ่งเบบี้ได้ตกหลุดรักกับเดบอร่าสาวเสิร์ฟในร้านอาหารแห่งหนึ่ง เขาจึงตัดสินใจจะอำลาวงการสีดำแห่งนี้ แต่ใครจะไปยอม ในเมื่อฝีมือในการซิ่งรถของเขานั้นไม่มีใครมาเทียบได้


ตัวหนังเป็นที่พูดถึงอย่างมากในเรื่องการตัดต่อ ที่สามารถผสานจังหวะแอ็คชั่น ฉากขับรถเท่ ๆ ให้เข้ากับเสียงเพลงได้อย่างลงตัว จนถึงขั้นเข้าชิงในสาขาการตัดต่อยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์เลยทีเดียว


2. Speed Racer


ผลงานของ 2 พี่น้องวาโชว์สกี้ในปี 2008 ที่นำมังงะรถซิ่งหลุดโลกในยุค 60s ของญี่ปุ่นมาดัดแปลงเป็นเวอร์ชั่นคนแสดง เรื่องราวของชายที่ชื่อว่า Speed Racer นักแข่งรถในโลกอนาคต ที่ทั้งตัวรถและสนามแข่งจะมีความพิเศษเป็นของตัวเอง ทั้งกระโดดได้ ทั้งเปลี่ยนรูปแบบล้อได้ หรือแม้แต่ติดอาวุธก็ตาม


แต่ไม่ว่าเทคโนโลยีจะล้ำเพียงใดการแข่งขันในโลกธุรกิจก็ยังคงมีเช่นเดิม บริษัทอย่าง Royalton ได้ประกาศสงครามกับพระเอก เพียงเพราะเขาไม่ยอมเซ็นสัญญาด้วย เพราะพระเอกต้องการพิสูจน์ว่าการแข่งขันนั้นมีความหมายมากกว่าการทำธุรกิจ จึงเกิดเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ที่อาจแลกมาด้วยชีวิต


ตัวหนังเต็มไปด้วยฉากแข่งรถสุดมันส์ ที่สามารถถ่ายทอดความเป็นอนิเมะมาอยู่ในหนังฮอลลีวูดได้อย่างดี แม้จะโดนวิจารณ์ในเรื่องของ CGI ที่ดูลอยเอามาก ๆ แต่มันก็ไม่อาจทำลายความมันส์ที่หนังมอบให้อยู่ดี น่าเสียดายที่ตัวหนังทำรายได้ทั่วโลกไปเพียง 93 ล้าน จากทุนสร้าง 120 ล้าน หมดโอกาสที่จะได้สร้างภาคต่อ ทิ้งให้แฟน ๆ รอมาจนถึงปัจจุบัน


3. Cars


แอนิเมชั่นในปี 2006 จาก Pixar Studios ที่นำเอากีฬาแข่งรถมาดัดแปลงใหม่ เล่าออกมาในโลกแห่งจิตนาการที่เต็มไปด้วยรถยนต์ที่มีชีวิต และรถแข่งอย่าง Lightning McQueen ซึ่งให้เสียงโดย Owen Wilson นักแข่งหน้าใหม่ที่มีพรสวรรค์และมีความทะเยอทะยาน เขาใฝฝันอย่างจะเป็นที่ 1 ในทุกสนามแข่ง


แต่แล้ววันหนึ่งกลับเกิดอุบัติเหตุเมื่อง McQueen พลัดหลงจากรถขนส่งของเขา และบังเอิญไปลงเอยที่เมืองอย่าง Radiator Springs เมืองเล็ก ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในแผนที่ด้วยซ้ำ ซึ่ง ณ เมืองแห่งนี้พระเอกได้พบกับชุมชนรถสุดใจดีที่คอยช่วยเหลือ ฝึกฝน และเรียนรู้บทเรียนต่าง ๆ จนเกิดเป็นมิตรภาพที่เปลี่ยนให้รถที่เต็มไปด้วยอีโก้อย่าง McQueen กลายเป็นรถที่ดีกว่าเดิมได้


Cars ถูกสร้างออกมาถึง 3 ภาค เป็นตั้งแต่หนังรถแข่งไปจนถึงหนังสายลับ ที่นับเป็นหนึ่งในแฟรนไชส์ที่ได้รับความนิยมที่สุดเรื่องหนึ่งของ Pixar ด้วยการดีไซน์ตัวละครที่น่ารัก น่าจดจำ มีเอกลัษณ์ไม่ซ้ำกัน และมีอนิเมชั่นที่สวยงาม สามารถถ่ายทอดฉากการแข่งขันในสนามออกมาได้อย่างน่าทึ่ง ชนิดที่บางฉากเราคิดว่าเป็นของจริงเลยทีเดียว


4. Ford v.Ferrari


หนังดราม่า-ชีวประวัติของผู้กำกับ เจมส์ แมนโกลด์ ในปี 2019 ที่หยิบเอาเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับการแข่งขันอันเข้มข้นระหว่าง Ford Motor Company และ Ferrari ในช่วงปี 1960s ดำเนินเรื่องโดย 2 ตัวละครอย่าง แคร์โรลล์ เชลบี้ ที่รับบทโดยแมตต์ เดม่อน อดีตนักแข่งรถที่ผันตัวมาเป็นนักออกแบบยานยนต์ และเคน ไมลส์ ที่รับบทโดยคริสเตียน เบล นักแข่งรถมากพรสวรรค์ชาวอังกฤษ


ทั้ง 2 คนต้องหาวิถีทางเพื่อผลักดันแบรนด์รถอเมริกันบ้าน ๆ อย่าง Ford ให้เอาชนะ Ferrari สุดยอดรถสปอร์ตจากอิตาลีให้ได้ พวกเขาต้องพัฒนารถแข่งอย่าง Ford GT40 เพื่อมาใช้ในการแข่งขัน 24 Hours of Le Mans ที่นอกจากหนังจะพาเราไปชมการแข่งสุดมันส์แล้ว ยังมีเรื่องการเมืองการเอาชนะกันของ 2 บริษัทนี้อีกด้วย


เจมส์ แมนโกลด์ ได้สร้างสุดยอดหนังแข่งรถที่ไม่จำเป็นต้องมีฉากแอ็คชั่น หรือบู๊แหลกเหมือนหนังเรื่องอื่น ๆ แต่ภาพการแข่งรถที่เขาถ่ายทอดออกมานั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยหัวใจและจิตวิญญาณ สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ชมได้อย่างดีเยี่ยม และกวาดคำชมจากนักวิจารณ์ไปได้อย่างล้นหลาม ถึงขั้นเข้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์เลยทีเดียว


5. Mad Max: Fury Road


ภาค 4ของแฟรนไชส์หนังที่ทุกคนคิดว่าตายไปแล้วอย่าง Mad Max กลับมาในปี 2015 โดยผู้ให้กำเนิดอย่าง จอร์จ มิลเลอร์ เล่าเรื่องราวในโลกอนาคตที่ล่มสลายจนกลายเป็นทะเลทราย ทรัพยากรต่าง ๆ ก็หายาก โดยเฉพาะน้ำ วันหนึ่ง Max Rockatansky ชายหนุ่มผู้สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ได้เข้าไปพัวพันความขัดแย้งระหว่าง Immortan Joe ผู้นำจอมเผด็จการ และFuriosa กบฏที่พยายามช่วยเหลือเหล่าผู้หญิงที่ตกเป็นทาสของจอมเผด็จการ


ตัวหนังได้จัดเต็มฉากแอ็คชั่นตลอด 2 ชั่วโมง กับการซิ่งรถไล่ล่ากันในทะเลทรายอันเวิ้งว้าง แต่เต็มไปด้วยอันตรายจากภัยธรรมชาติ มีงานภาพ การแสดง สตันท์ และวิชวลเอฟเฟ็กต์อันไร้ที่ติ แต่ที่เป็นพระเอกจริง ๆ ของหนังเรื่องนี้ ก็คือเหล่ายานยนต์มากมาย ที่ถูกดัดแปลงรูปร่างให้เข้ากับการเอาชีวิตรอดจากสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย มีการติดอาวุธ กับดัก หรือเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้งานได้จริง


นอกจากนี้ตัวหนังยังมีนัยยะ สื่อถึงการปลดแอกที่ผู้คนต้องต่อสู้เพื่อเอาชนะผู้มีอำนาจ และเป็นตัวอย่างของหนังที่สื่อถึงพลังหญิงได้อย่างลงตัว ดูไม่ยัดเยียดเหมือนหลาย ๆ เรื่องในปัจจุบัน


Mad Max: Fury Road ได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมอย่างล้นหลาม ถึงแนวทางการสร้างหนังแอ็กชั่นที่สร้างสรรค์ สมจริง และยิ่งใหญ่อลังการ ในยุคที่ใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิคในการแก้ปัญหา เหล่ารถซิ่งในเรื่องก็กลายเป็นที่จดจำของแฟน ๆ จนสามารถชนะรางวัลออสการ์ในด้านเทคนิคมาถึง 6 ตัว และเร็ว ๆ นี้ก็จะมีการสร้างหนังภาคแยก ที่จะเล่าเรื่องราวในช่วงวัยรุ่นของFuriosaที่จะนำแสดงโดย แอนยา เทย์เลอร์-จอย อีกด้วย