MENU

ทำไมดิสนีย์ชอบทำแต่หนังรีเมค?

 25 พ.ค. 2566 00:00

สังเกตไหมว่าช่วงหลัง ๆ นี้ดีสนีย์ดูเหมือนจะสร้างแต่หนังรีเมคมากขึ้น ผลงานที่เป็นออริจินัลไอเดีย หรือเหล่าหนัง IP ใหม่ ๆ ก็แทบจะไม่มีให้เราเห็นเลย ตัวอย่างเช่นในปี 2022 ที่ผ่านมา ที่หนังฉายโรงทุกเรื่องของดิสนีย์ล้วนเป็นหนังภาคต่อ หนังภาคแยก ไม่ก็หนังรีเมคกันทั้งนั้น เช่นภาคต่อของ Avatar , Doctor Strange , Thor และ Black Panther หนังภาคแยกอย่าง Lightyear ที่ Spin-off มาจาก Toy Story หรือหนังรีเมคอย่าง Pinocchio ส่วนงานเล็ก ๆ หรืองานออริจินัลไอเดียก็ถูกเข็นไปลงช่อง Disney+ ซะหมด จนหลายคนคงสงสัยกันว่าทำไมดีสนีย์ถึงได้ทำแบบนี้ และวันนี้เรามีคำตอบมาแชร์กัน


ถ้าเอาง่าย ๆ แบบจบตอนนี้ได้เลย ก็คือเหตุผลเรื่องเงินเป็นหลัก เพราะแทนที่พวกเขาจะทุ่มเททรัพยากรมากมายที่มี ทั้งงบประมาณ และทั้งบุคลากรมากฝีมือ เพื่อนำไปสร้างของใหม่ที่ไม่รู้ว่าจะปังหรือแป้ก ไปลงทุนนำของเดิมที่มีอยู่แล้วมาสร้างใหม่ซะยังดีกว่า


เพราะดิสนีย์ก็ถือเป็นบริษัทที่เจ็บตัวมาเยอะที่สุดค่ายหนึ่งของฮอลลีวูดเลยก็ว่าได้ ไม่ต้องย้อนไปไกลมาก เอาแค่ในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา ก็มีหนังเจ๊งที่เป็นตราบาปของดิสนีย์อย่าง A Christmas Carol , Mars Needs Moms , John Carter , The Lone Ranger และ Tomorrowland ที่ขาดทุนกันเรื่องละ 100- 200 ล้านเหรียญเลยทีเดียว และยังเจ็บไปกว่านั้น เมื่อหนังเหล่านี้ล้วนเป็นหนังที่พวกเขาหมายมั่นจะปั้นเป็นแฟรนไชส์กันทั้งสิ้น เรียกได้ว่าล้มตั้งแต่เริ่มเลยทีเดียว



แถมในช่วงโควิดที่ทำให้รายได้หลักของพวกเขาอย่างสวนสนุก ไม่สามารถทำเงินได้เหมือนก่อนอีกต่อไป จึงเป็นหน้าที่ของ Marvel และ Star Wars 2 สิ่งที่การันตีรายได้ให้กับดิสนีย์ ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายอันมากมายมหาศาลของบริษัทเอาไว้ จนเป็นเหตุผลที่ทำไมถึงมีหนังและซีรีส์ MCU ออกมาถี่ ๆ แต่คุณภาพกลับต่ำลงเมื่อเทียบกับเมื่อก่อนมาก เพราะพวกเขาต้องการเข็นมันออกมาให้เร็วที่สุด แผนกต่าง ๆ กันหันมาโฟกัสที่ตรงนี้ ส่งผลทำให้จำนวนหนังของดิสนีย์แท้ ๆ ก็น้อยลงไปทุกที


ต่างจากยุค 90s-2000s ที่ดิสนีย์มีผลงานออริจินัลมากมาย โดยส่วนใหญ่จะเป็นหนังเด็ก หนังครอบครัว หรือที่เห็นบ่อย ๆ ก็เป็นหนังวัยรุ่นไฮสคูล ที่แม้หนังเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำเงินมากมายอะไร บางเรื่องที่ได้ฉายโรงอย่างมากก็ได้กำไรนิด ๆ หน่อย ๆ จากทุนสร้างเท่านั่นเอง แต่หนังเหล่านี้ก็ไม่ได้ใช้ทุนสร้างสูงเช่นเดียวกัน หลายเรื่องก็ถูกสร้างมาเพื่อส่งตรงไปฉายที่ช่อง Disney Channel ด้วยซ้ำ เพื่อรอหมัดเด็ดที่เป็นหนังใหญ่อย่าง Pirates of the Caribbean , Chronicles of Narniaหรือ National Treasure และอนิเมชั่นอันเป็นรากฐานเดิมของบริษัทนี้อย่าง The Lion King , Aladdin , Toy Story หรือ Beauty and the Beast ที่ล้วนทำเงินทล่มทลายนั่นเอง


ในยุค 90s ยังเป็นครั้งแรกของดิสนีย์ที่พวกเขาลองสร้างหนัง Live Action จากอนิเมชั่นคลาสสิคของตัวเอง ในผลงานเรื่อง The Jungle Book (1994) , 101 Dalmatians (1996) ,102 Dalmatians (2000) ที่ใช้ทุนสร้างไปค่อนข้างสูง แต่กลับทำได้ในระดับน่าผิดหวัง แม้จะไม่ขาดทุนยับแต่ก็เป็นเหตุผลที่ดิสนีย์ไม่ได้สร้างหนังรีเมคอีกเลย


จนกระทั่งในปี 2010 ที่พวกเขาได้นำอนิเมชั่นคลาสสิคจากปี 1951 ที่สร้างมาจากนิทานในตำนานตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1865 มาดัดแปลงเป็นเวอร์ชั่นคนแสดง ด้วยเทคนิคสุดตระกาลตาจากผู้กำกับสายดาร์กแฟนตาซีอย่าง ทิม เบอร์ตัน และสามารถทำรายได้ทะลุ 1,000 ล้านเหรียญ จนเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ดิสนีย์หันมาเน้นสร้างหนังรีเมคจนถึงปัจจุบัน และหนังเรื่องที่ว่าก็คือ “Alice in Wonderland”


จากหน้าหนังที่เป็นดาร์คแฟนตาซี บวกกับได้นักแสดงคู่บุญของทิม เบอร์ตัน อย่าง จอห์นนี เดปป์ มาร่วมแสดงที่ในเวลานั้นเขานับเป็นดาราเบอร์ใหญ่มากในฮอลลีวูด หนังไตรภาค Pirates of the Caribbean ที่เขานำแสดงสามารถทำรายได้สูงถึง 2,600 ล้านเหรียญ ที่ถือเป็นวัตถุดิบชั้นยอดในการส่งให้หนังเรื่อง Alice in Wonderland ได้รับความนิยม จนแม้แต่ดิสนีย์เองก็ยังคาดไม่ถึง


ณ เวลานั้น สื่อหลาย ๆ เจ้ามองว่าดิสนีย์อาจจะฟลุค เพราะ Alice in Wonderland นับเป็นหนังใหญ่เรื่องแรกในช่วงซัมเมอร์ปี 2010 และเข้าฉายหลังจากที่ Avatar ยึดโรงมาเป็นเวลานานถึง 3เดือน ทำให้ผู้ชมส่วนมากในเวลานั้น เข้าโรงไปดูหนังเรื่องนี้ แต่ดิสนีย์ก็พิสูจน์ว่าพวกเขาไม่ได้ฟลุค เพราะผลงานรีเมคลำดับถัดไปอย่าง "Maleficent" (2014), "Cinderella" (2015), The Jungle Book (2016) ก็ล้วนสร้างรายได้มหาศาลให้กับดิสนีย์ทั้งสิ้น โดยเฉพาะ The Jungle Book ที่ทำเงินไปเกือบพันล้าน แถมยังชนะรางวัลออสการ์สาขาเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยมอีกด้วย พวกเขาจึงเข็นหนังรีเมคเรื่องอื่น ๆ ตามมาอีกมากมายจนถึงปัจจุบัน


ดูเหมือนว่าการนำผลงานเก่ามารีเมคจะเป็นกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ เพราะมันทั้งความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากการ์ตูนเก่าเหล่านี้ มีฐานแฟน ๆ อยู่แล้วทั่วโลก เมื่อทำเป็นหนังจึงมีคนมากมายตั้งตารอที่จะได้เห็นผลงานที่พวกเขาเคยดูในวัยเด็ก เติบโตมากับการ์ตูนเหล่านั้น กลายมาเป็นเวอร์ชั่นคนแสดงที่สมจริงและจับต้องได้ ให้ความ Nostalgia หรือว่าความรู้สึกโหยหาอดีตที่เราคิดถึง หลายคนที่มีครอบครัวแล้ว ก็จะพาครอบครัวลูก ๆ มาดูด้วยกัน เกิดเป็นการขยายฐานแฟนคลับไปสู่คนรุ่นใหม่ได้อีก


นอกจากนี้ อีกหนึ่งสิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ คือการที่ดิสนีย์พยายามสร้างภาพจำว่าตัวละคร หรือเรื่องราวเหล่านี้เป็นของพวกเขา แม้ว่าดิสนีย์จะนำมาดัดแปลงอีกทีก็ตาม ซึ่งที่อเมริกา กฏหมายลิขสิทธิ์จะหมดอายุหลังจากผ่านไป 100 ปี และจะถูกเปลี่ยนเป็นสาธารณสมบัติ (Public domain)เพื่อให้คนรุ่นต่อไปสามารถนำมาต่อยอดสร้างสรรค์ได้นั่นเอง โดยกรณีนี้เกิดขึ้นไปแล้วกับ Winnie-the-Pooh ที่ถูกสร้างเป็นหนังสยองขวัญไล่เชือด, Cinderella ที่ถูกดัดแปลงใหม่จนกลายเป็นหนังตลกมิวซิเคิล นำแสดงโดยนักร้องสาว คามิลลา คาเบลโล หรือล่าสุดกับ Pinocchio ที่ถูกผู้กำกับอย่าง กีเยร์โม เดล โตโร มาสร้างใหม่จนชนะออสการ์มาแล้ว


แม้การสร้างหนังใหม่ออกมาเรื่อย ๆ ของดิสนีย์จะไม่ได้เป็นการต่ออายุลิขสิทธิ์แต่อย่างใด แต่มันก็เป็นวิธีการที่ทำให้ผู้ชมรับรู้ว่าตัวละครเหล่านี้เป็นของพวกเขา แม้ว่าจะถูกคนอื่น ๆ นำไปสร้างต่อก็ตาม แต่คนก็จะคิดว่าออริจินัลที่เป็นของดีสนีย์นั้นดีกว่าเสมอ เคยมีลือข่าวถึงขั้นว่าดิสนีย์เข้าไปแทรกแซงการเมืองของสหรัฐ เพื่อพยายามปรับกฏหมายลิขสิทธิ์นี้ไม่ให้ตัวละครไอคอนของพวกเขาอย่าง Mickey Mouse กลายเป็นสาธารณสมบัติ แต่จะจริงหรือเท็จอย่างไรเรื่องนี้เราก็ได้แต่วิเคราะห์กันไป


การรีเมคหนังยังมีจุดประสงค์ เพื่อให้โอกาสเหล่าผู้สร้างหน้าใหม่ในการนำผลงานเก่า ๆ มาปรับปรุง ให้มีความทันสมัยมากขึ้น ทั้งในเรื่องเนื้อหาและเทคนิคการสร้าง พวกเขาอาจตีความสิ่งที่ตกยุคไปแล้วใหม่ หรือปรับเปลี่ยนในสิ่งที่คิดว่าเป็นประเด็นสังคม ที่ไม่เหมาะสมจะนำเสนอในยุคปัจจุบัน เช่นพวกวายร้ายไรมิติที่มีแผนการบ้า ๆ บอ ๆ ไม่สมเหตุสมผลอย่าง Maleficent นางร้ายจาก Sleeping Beauty ที่เวอร์ชั่นใหม่นี้ ได้ให้ปูมหลังที่มาที่ไปและเหตุผลการกระทำของเธอ รวมถึงเปลี่ยนฉากจูบของเจ้าชายที่ดูน่าขนลุกให้เป็นวิธีอื่นที่เหมาะสมกว่า ใน Cruella ก็เปลี่ยนให้วายร้ายโรคจิต ที่คิดจะเอาหนังหมามาทำเป็นเสื้อใส่เอง ให้กลายเรื่องราวสงครามการต่อสู้กันดีไซน์เนอร์แทน


หรือสิ่งที่คิดว่าสุ่มเสี่ยงจะเป็นการเหยียดผิว เช่นในตัวละครอีกาในเรื่อง Dumbo , แมว Si&Am ในเรื่อง Lady and the Tramp , ฉากคนพื้นเมืองอเมริกันในเรื่อง Peter Pan , พฤติกรรมของ King Louie ใน The Jungle Book หรือเนื้อร้องบางท่อนในเพลงบางเพลงก็ถูกตัดออกหรือปรับใหม่ทั้งสิ้น เพื่อหลีกเลี่ยงดราม่านั่นเอง


แต่ก็ใช่ว่าการตีความใหม่จะทำดีไปซะหมด เพราะหลายครั้ง การรีเมคของดิสนีย์มันได้ทำลายภาพจำ และสิ่งดี ๆ อันเป็นหัวใจของเวอร์ชั่นต้นฉบับไปหมด เช่นในเรื่อง Mulan เวอร์ชั่นคนแสดงในปี 2020 ที่ทั้งตัวผู้กำกับ และมือเขียนบทอีก3คนก็ล้วนเป็นคนขาว ที่ดูเหมือนจะไม่ได้เข้าใจวัฒนธรรมจีน หรือทำการบ้านมามากพอที่จะกำกับหนังจีนเลย ทุนสร้างกว่า 200 ล้านเหรียญ แต่กลับไม่สามารถถ่ายทอดฉากสงครามให้ออกมายิ่งใหญ่เทียบเท่าหนังจีนด้วยซ้ำ ตัวละครขวัญใจผู้ชมอย่างมังกรมูชูและจิ้งหรีดคลิกี้ ก็ถูกตัดออก และแทนที่ด้วยนกฟีนิกซ์ ที่ไม่มีบทอะไรนอกจากบินไปบินมา


ตัวละครพระเอกอย่างแม่ทัพ ลี้ แชง ก็ตัดออกเพียงเพราะต้องการชูพลังหญิง เหล่าเพลงประกอบของเรื่องระดับไอคอนนิคและติดหูมาก ๆ อย่าง Honor To Us All , I'll Make A Man Out Of You หรือ Reflection ก็ไม่มีในหนัง เพราะกลัวว่าหนังจะไม่สมจริง หรือที่หนักสุดคือการเปลี่ยนตัวละครมู่หลาน ให้กลายเป็นซูเปอร์ฮีโร่ผู้มีพลังชีตั้งแต่เกิด เก่งเองแบบไม่ต้องฝึกฝนอะไร ต่างจากต้นฉบับที่เธอเป็นคนธรรมดาที่มีความพยายาม มุ่งมั่น ฝึกฝน และอดทนไปพร้อม ๆ กับเพื่อนคนอื่น ๆ เก่งไปด้วยกัน และใช้สมองเพื่อพิชิตอุปสรรค ทำให้ความน่าเอาใจช่วยของเวอร์ชั่น 2020 แทบจะไม่มีเลยทีเดียว โดยตัวหนังทำเงินทั่วโลกไปเพียง 70 ล้านเหรียญเท่านั้น ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะฉายในช่วงโควิด-19 ระบาด แต่ก็คิดว่ามีหลายคนเช่นกันที่ไม่พอใจการรีเมคในครั้งนี้


แม้หนังจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่เมื่อดิสนีย์เลือกเส้นทางนี้แล้วก็ยากที่จะหันหลังกลับ ต่อไปนี้จะยังมีหนังรีเมคมากมายที่ดิสนีย์กำลังพัฒนาอยู่ เช่น Snow White , Lilo & Stitch , Hercules , Bambi , Robin Hood , The Aristocats หรือ Moana ที่เราคนดูก็ได้แต่หวังและเอาใจช่วยให้ผลงานทั้งหมดนี้ออกมาดี ถูกใจทั้งผู้ชมหน้าเก่าและหน้าใหม่ต่อไป และแม้เวอร์ชั่นรีเมคจะออกมาห่วยหรือน่าผิดหวังเพียงใด แต่เวอร์ชั่นต้นฉบับก็ยังคงอยู่ไม่ได้สูญหายไปไหนนั่นเอง