MENU

ก.ล.ต. ฟันอดีตผู้บริหารพีทีจี รวมแก๊งอินไซด์ขายหุ้น PTG สั่งปรับ 51 ล้าน

 30 พ.ค. 2566 00:00

สำนักงาน ก.ล.ต. สั่งปรับอดีดผู้บริหารพีทีจี "ฉัตรแก้ว คชเสนี" พร้อมพวกรวม 6 ราย ใช้ข้อมูลอินไซด์ผลประกอบการทรุดชิงเทขายหุ้นทิ้ง ปรับเงินรวม 51.5 ล้านบาท พร้อมห้ามดำรงตำแหน่งกรรมการ-ผู้บริหาร ตั้งแต่ 12-31 เดือนตามฐานความผิด


รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งผลการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 6 ราย ได้แก่ นางฉัตรแก้ว คชเสนี, นางสาวลภัสอร คชเสนี, นายสหัสชัย คชเสนี, นายเขมภพ คชเสนี, นางกชกรณ์ พิบูลธรรมศักดิ์ และนายธราธร พิบูลธรรมศักดิ์ กรณีขายหุ้นบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG โดยอาศัยข้อมูลภายในที่ตนรู้หรือครอบครอง เปิดเผยข้อมูลภายใน และช่วยเหลือการกระทำความผิด โดยให้ผู้กระทำผิดชำระเงินรวม 51,540,993 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารกับผู้กระทำความผิดทั้ง 6 ราย


ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตรวจสอบเพิ่มเติม พบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานทำให้เชื่อได้ว่า บุคคล 6 ราย กระทำการที่เข้าข่ายเป็นความผิดเกี่ยวกับการขายหุ้นโดยอาศัยข้อมูลภายในที่ตนรู้หรือครอบครอง โดยนางฉัตรแก้ว ขณะกระทำความผิด ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการและกรรมการบริหาร PTG ได้ล่วงรู้ข้อมูลภายในที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อราคาหุ้น PTG เกี่ยวกับข้อมูลผลการดำเนินงานไตรมาส 3/61 ที่มีกำไรสุทธิลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อันเนื่องจากรายได้จากการขายและการให้บริการลดลงและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มสูงขึ้น


ภายหลังการล่วงรู้ข้อมูลภายในดังกล่าว นางฉัตรแก้วได้ขายหุ้น PTG ของตนเองผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางสาวลภัสอร นายสหัสชัย และนายเขมภพ ก่อนที่ PTG จะเปิดเผยข้อมูลภายในดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันที่ 8 พ.ย. 61

นอกจากนี้ นางฉัตรแก้ว ได้เปิดเผยข้อมูลภายในแก่ นางกชกรณ์ ทำให้นางกชกรณ์ ได้นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ขายหุ้น PTG ผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง และนายธราธร ได้ล่วงรู้ข้อมูลภายในดังกล่าวและได้ขายหุ้น PTG ผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเองก่อนที่ PTG จะเปิดเผยข้อมูลภายในดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วยเช่นกัน

สำหรับการกระทำของนางฉัตรแก้ว นางกชกรณ์ และนายธราธร เป็นความผิดฐานขายหุ้น PTG โดยอาศัยข้อมูลภายในตามมาตรา 242(1) ประกอบมาตรา 243(1) มาตรา 244(4) หรือมาตรา 244(5) แล้วแต่กรณี ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535


ขณะเดียวกันการกระทำของนางฉัตรแก้ว เป็นความผิดฐานเปิดเผยข้อมูลภายในตามมาตรา 242(2) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันด้วย


ส่วนการกระทำของนางสาวลภัสอร นายสหัสชัย และนายเขมภพ เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานขายหุ้น PTG โดยอาศัยข้อมูลภายในตามมาตรา 315 ประกอบมาตรา 242(1) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน


คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดทั้ง 6 ราย ดังกล่าว โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ ชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ ดังนี้


1. ให้นางฉัตรแก้ว ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 42,154,171 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 31 เดือน


2. ให้นางสาวลภัสอร นายสหัสชัย และนายเขมภพ ชำระค่าปรับทางแพ่ง และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้นรายละ 537,586 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลารายละ 20 เดือน


3. ให้นางกชกรณ์ ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 4,187,731 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 12 เดือน


4. ให้นายธราธร ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 3,586,333 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 12 เดือน


ทั้งนี้ การกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวข้างต้นจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราที่อัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด


ส่วนเงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง