รีวิว Oppenheimer ชีวประวัตินักวิทย์ฯ ผู้สร้างระเบิดปรมาณู
21 ก.ค. 2566 00:00คริสโตเฟอร์ โนแลน เจ้าพ่อหนังบล็อกบลัสเตอร์ยุคใหม่กลับมาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้กลับพิเศษกว่าครั้งไหน ๆ ด้วยการทำหนังแนวชีวประวัติเป็นครั้งแรกของเขา และมันจะยอดเยี่ยมสมคำร่ำลือหรือไม่วันนี้เรามีคำตอบครับ
Oppenheimer ตามติดชีวิตของ เจ. รอเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ นักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ผู้สร้างระเบิดปรมาณู ที่เรารู้สึกว่าตัวหนังดูจะโปรโมทผิดไปหน่อย เพราะจริง ๆ แล้วหนังไม่ได้โฟกัสที่เรื่องการทดลองเพียงอย่างเดียว ยังมีเรื่องราวปัญหาชีวิตรัก หน้าที่การทำงาน หรือเรื่องคดีความที่เขาต้องต่อสู้ อัดเน้นอยู่ในเวลากว่า 3 ชม. ที่หากหวังจะมาดูแค่การทดลองอย่างเดียวก็คงผิดหวังได้ แต่หากชอบความเซอร์ไพรส์ก็ต้องบอกว่าประเด็นอื่น ๆ ในเรื่องก็สามารถทำได้ดีเช่นกัน
ด้วยความที่มีหลายเรื่องให้เล่า จึงมีการตัดสลับไปมาระหว่างเหตุการณ์ต่าง ๆอยู่ตลอดทั้งเรื่อง โดยเฉพาะช่วงต้นและกลางเรื่องที่ดำเนินเรื่องเร็วมากจนอาจทำให้หลายคนตามไม่ทัน ยิ่งบทสนทนาที่มีความเฉพาะด้าน ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ และไม่ได้ใช้เวลาอธิบายอะไรมากให้กับคนดูเข้าใจ จึงอาจเข้าถึงคนทั่วไปได้ยากและต้องใช้สมาธิอยู่พอสมควร แต่ก็ยังดีที่มีบางฉากใช้การเล่าเรื่องด้วยภาพ ที่หลายฉากน่ากลัวไม่แพ้หนังสยองขวัญเลยทีเดียว
แต่กลับกันหากเราเข้าใจในสิ่งที่ตัวละครคุยกัน บทสนทนาเหล่านี้ก็จะทำให้หนังสนุกไม่แพ้ฉากแอ็คชั่น อารมณ์คล้าย ๆ กับหนังของ เดวิด ฟินเชอร์ อย่าง “The Social Network”โดยเฉพาะช่วงองก์ 3 ของหนังที่จะเน้นไปที่เรื่องคดีความของออพเพนไฮเมอร์ ที่เข้มข้นและดูจะเข้าถึงคนทั่วไปได้มากกว่าเรื่องทฤษฎีการสร้างนิวเคลียร์ซะอีก
ภายในเรื่องยังเต็มไปด้วยตัวละครต่าง ๆ ที่เยอะมาก บางตัวโผล่มาแป๊บเดียวแต่กลับมีบทสำคัญในภายหลัง แต่เราคนดูกลับยังจำชื่อเขาแทบไม่ได้ ก็ไม่รู้ว่าเป็นความตั้งใจของโนแลนที่อยากให้เรากลับไปดูหนังอีกรอบหรือไม่ ซึ่งหนังก็แก้ปัญหาในส่วนนี้ด้วยการแคสหนังแสดงดัง ๆ มารับบท เพื่อให้คนดูยังพอจำหน้าได้บ้าง
ด้วยทุนสร้างสูงถึง 100 ล้านเหรียญ นอกจากการสร้างฉากต่าง ๆ ขึ้นมาจริง ๆ แล้ว ก็ดูจะหมดไปกับเหล่านักแสดงมากมายที่แต่ละคนในเรื่องก็ไม่ได้มากันเล่น ๆ แม้บางคนจะมีบทไม่มากแต่ก็มีซีนที่น่าจดจำกันทุกคน โดยเฉพาะ โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ , เอมิลี บลันต์ และ ฟลอเรนซ์ พิว ที่ปรากฏตัวออกมาทีไรก็แย้งซีนพระเอกอย่าง คิลเลียน เมอร์ฟี ไปได้ทุกครั้ง สาเหตุหนึ่งก็อาจเป็นเพราะบุคลิกของออ พเพนไฮเมอร์ที่ไม่ค่อยแสดงอารมณ์ออกมาเท่ากับตัวละครอื่นๆ
แม้หนังจะเน้นไปที่การคุยกันแทบจะทั้งเรื่อง แต่เมื่อถึงซีนไฮไลต์อย่างฉากการทดลองระเบิดปรมาณู คริสโตเฟอร์ โนแลน ก็สามารถเอาคนดูได้อยู่หมัด มอบประสบการณ์สุดพิเศษที่ทำให้คนดูต้องตะลึกกับภาพที่อยู่ตรงหน้า เปรียบเสมือนเราเข้าได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริง ๆ โดยเฉพาะหากดูในโรง IMAX ยิ่งมารู้ว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้ใช้ซีจีเลยแม้แต่ช็อตเดียวก็ยิ่งว้าวกับงานสร้างมากขึ้นไปอีก
ข้อเสียของหนังเรื่องนี้ ดูจะเป็นการใช้เพลงประกอบที่มากไปหน่อย มีการเปิดคลออยู่ตลอดเวลาแทบจะทั้งเรื่อง บางจังหวะก็ไม่ได้มีอะไรน่าตื่นเต้นแต่เพลงก็บิ้วเราไปไกล และนอกจากฉากการทดลองนิวเคลียร์แล้วก็ดูจะไม่มีฉากไหนที่ใช้กล้อง IMAX ได้คุ้มค่าเลย ซึ่งอาจเป็นความตั้งใจของผู้กำกับที่ต้องการแหวกแนวนำกล้องสุดเทพนี้มาใช้ถ่ายคนก็เป็นได้
แม้ Oppenheimer จะไม่ใช่ผลงานที่ดีที่สุดของโนแลน แต่ก็นับเป็นอีกหนึ่งการทดลองทำหนังแนวใหม่ของผู้กำกับที่คงไม่มีใครกล้าทำ มีสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ และมอบประสบการณ์ที่ไม่เหมือนหนังแนวชีวประวัติเรื่องไหน ๆ ที่เคยมีมา
บทความโดย : Minerx