MENU

"ออมสิน-BAM" ร่วมทุนตั้ง "ARI-AMC" รับซื้อหนี้กว่า 5 แสนราย มูลหนี้ 4.5 หมื่นล้าน

 29 พ.ค. 2567 00:00

"ออมสิน-BAM" ร่วมทุนตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด หรือ ARI-AMC ทุนจดทะเบียน 1 พันล้าน รับโอนหนี้เสียล็อตแรก 1.4 แสนราย มูลหนี้กว่า 1 หมื่นล้านบาท ในเดือนก.ค.นี้ ก่อนสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 5 แสนราย มูลหนี้ 4.5 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยลูกหนี้รายย่อย SME และหนี้บัตรเครดิต คาดดึงลูกหนี้เสียกลับเข้าสู่ระบบสินเชื่อได้ 70-80% ภายใน 2-3 ปี


วันนี้ (29 พ.ค. 6ล7) ณ ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมเป็นประธาน และสักขีพยานในพิธีลงนามการร่วมทุนจัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด หรือ ARI-AMC เพื่อแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบของรัฐบาล ระหว่างธนาคารออมสิน และบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การจัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด เป็นไปตามนโยบายช่วยเหลือประชาชนลดภาระหนี้ของรัฐบาล โดยบริษัทบริหารสินทรัพย์อารีย์ จะเข้าไปช่วยกลุ่มลูกหนี้ที่ค้างชำระมานาน และไม่มีการเคลื่อนไหว ซึ่งถ้ายังอยู่ในสถานบันการเงินต่อไป ก็จะติดชะงักอยู่อย่างนี้ และไม่เป็นผลดีต่อสถาบันการเงินด้วย เพราะฉะนั้นก็ให้โอนออกมา เพื่อให้มีการบริหารจัดการที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น


นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ARI-AMC จัดตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท มีสัดส่วนการร่วมทุนเท่ากันระหว่างธนาคารออมสิน และ BAM ที่ร้อยละ 50 ระยะเวลาดำเนินการไม่เกินกว่า 15 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มดำเนินการ โดยดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ในระยะแรกจะรับซื้อและรับโอนหนี้จากธนาคารออมสินเพียงแห่งเดียวก่อน เป็นการรับซื้อหนี้สินเชื่อทั่วไปทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน เป็นกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อรายย่อย SMEs รวมถึงหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ที่มีสถานะ NPLs หนี้สูญ รวมถึง NPA ที่มียอดหนี้ไม่เกิน 20 ล้านบาท ครอบคลุมลูกหนี้ที่ยังไม่ดำเนินคดี และดำเนินคดีแล้ว ที่ยังมีสิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย


โดยคาดว่าในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2567 หรือประมาณเดือน ก.ค. จะสามารถเริ่มรับซื้อและรับโอนหนี้จากธนาคารออมสินล็อตแรกได้ประมาณ 140,000 ราย วงเงิน 10,000 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 500,000 ราย วงเงิน 45,000 ล้านบาทในปลายปี 67 นี้ ก่อนจะขยายการดำเนินการให้ครอบคลุมการรับซื้อหนี้ประเภทอื่น รวมถึงหนี้ของ SFIs อื่น ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังในอนาคต


ทั้งนี้ บริษัทจะมีการรับซื้อหนี้ในราคายุติธรรม และคำนึงถึงประโยชน์ที่ลูกหนี้จะได้รับสอดคล้องจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นและหลากหลาย อาทิ การปรับลดเงินต้น ปรับลดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ หรือการตัดหนี้บางส่วนให้กับลูกหนี้ เป็นต้น โดยโครงการนี้ถือเป็นโครงการทางสังคมเพื่อช่วยให้ลูกหนี้สามารถกลับสู่ระบบได้เร็วมากขึ้น แต่ก็จะมีผลตอบแทนในอัตราที่เหมาะสมแก่ผู้ลงทุน ซึ่งจากมูลหนี้ดังกล่าวARI-AMC คาดจะสามารถช่วยปิดหนี้ส่งคืนลูหนี้กลับเข้าสู่ระบบได้ 70-80% ในระยะเวลาประมาณ 2-3 ปี


"การร่วมมือกันในครั้งนี้ ถือเป็นการจับคู่ที่ลงตัว โดยธนาคารออมสินเป็นฝ่ายที่มีพอร์ตสินเชื่อที่ต้องการส่งออกเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปล่อยกู้ต่อไป รวมถึงมีจำนวนสาขาที่มากทำให้สะดวกต่อติดต่อปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ ขณะที่ BAM เองมีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการหนี้ ก็จะทำให้สามารถปรับโครงสร้างหนี้ปิดจบได้เร็ว สามารถให้ลูกหนี้กลับเข้าสู่ระบบได้เร็ว โดยนอกจากเงินทุนจดทะเบียนเบื้องต้น 1,000 ล้านบาทแล้ว ธนาคารออมสินยังปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับ AMC เพื่อใช้ในการซื้อหนี้ด้วย และหากต้องการเพิ่มทุนจดทะเบียนธนาคารออมสินและ BAM ก็มีความพร้อมที่จะดำเนินการ" นายวิทัย กล่าว


นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กล่าวว่า บริษัทร่วมทุนดังกล่าวคือบริษัทบริหารสินทรัพย์ ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ภาคประชาชนที่กลายเป็นหนี้เสีย ซึ่งได้รับผลกระทบมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่ง BAM จะให้การสนับสนุนบริษัทร่วมทุนโดยให้บริการเกี่ยวกับการรับบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่บริษัทร่วมทุนจะรับซื้อ หรือรับโอนจากธนาคารออมสิน ตลอดจนการให้บริการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทร่วมทุน