MENU

ไทยพาณิชย์ เดินหน้าภารกิจ "อยู่ อย่าง ยั่งยืน" ตั้งเป้าปีนี้ปล่อยกู้กรีนโลน 1.2 แสนล้าน

 3 ก.ย. 2567 00:00

ธนาคารไทยพาณิชย์ วางกรอบพันธกิจความยั่งยืน ชูแนวคิด "อยู่ อย่าง ยั่งยืน" ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน 3 ระยะ เฟสแรกสิ้นปี 67 อยู่ที่ 1.2 แสนล้าน ก่อนจะขยับเป็น 1.5 แสนล้านในปี 68 ระยะสุดท้ายปี 93 ปรับพอร์ตสินเชื่อทั้ง 2.3 ล้านล้านบาทสู่พอร์ตสีเขียว ขณะที่ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อยังใช้ความระมัดระวัง หลังเศรษฐกิจยังมีทิศทางไม่แน่นอน


นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ดำเนินนโยบายมุ่งสู่ธนาคารชั้นนำด้านความยั่งยืน (The Leading Sustainable Bank) วางกรอบพันธกิจความยั่งยืน ชูแนวคิด "อยู่ อย่าง ยั่งยืน" (Live Sustainably) เป็นหลักปฏิบัติให้การดำเนินธุรกิจไปในทิศทางเดียวกันทุกมิติ ผสานศักยภาพเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมขับเคลื่อนธุรกิจและสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืนทั้งในระดับธนาคาร ลูกค้า และสังคม มองความยั่งยืนเป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องให้ความสำคัญ ภายใต้แนวคิด "อยู่ อย่าง ยั่งยืน" ธนาคารเชื่อมั่นว่าความยั่งยืนเป็นเรื่องของทุกคน ที่ต้องร่วมกันตั้งเป้าหมาย สร้างแรงกระเพื่อม ประสานความร่วมมือ เพื่อสร้างอนาคตให้เราทุกคนได้อยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน


ทั้งนี้ ในปี 2567 ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายสินเชื่อสนับสนุนลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน (กรีนโลน) ไว้ที่ระดับ 120,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 111,000 แสนล้านบาท


โดยได้วางเป้าหมายสู่ความยั่งยืนใน 3 ระยะ ได้แก่ 1. สนับสนุนลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้วยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนจำนวน 150,000 ล้านบาท ภายใน 2568 2. ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานของธนาคาร (Scope 1-2) ให้เป็น Net Zero ภายในปี 2030


3. เป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่ตั้งเป้า Net Zero 2050 จากการให้สินเชื่อและเงินลงทุนตามมาตรฐาน Science Based Target Initiatives (SBTi) หนุนภาคธุรกิจก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยแผนการเปลี่ยนผ่านพอร์ตสินเชื่อทั้ง2.3 ล้านล้านบาทสู่พอร์ตสินชื่อสีเขียว

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารมีความมุ่งมั่นในการเป็น True partner ให้กับลูกค้าของเราตลอดเส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยดำเนินการผ่านกลยุทธ์ ไว้ 3 ด้าน ดังนี้


1. การบริหารพอร์ตสินเชื่อของธนาคารให้สอดคล้องกับ Net Zero Target ด้วยการวางแผนกลยุทธ์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มลูกค้ารายอุตสาหกรรม โดยเน้นในธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ได้เป็นผู้นำด้านการปล่อยสินเชื่อโรงงานไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของไทยมายาวนาน โดยมีมูลค่าวงเงินอนุมัติสินเชื่อกว่า 1.98 แสนล้านบาทระหว่างปี 2011 ถึงปัจจุบัน


ในระยะถัดไป ธนาคารจะยังคงเพิ่มวงเงินสินเชื่อโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งต่อลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ ควบคู่กับการลดการสนับสนุนพลังงานถ่านหิน ผ่านการทยอยลดสินเชื่อคงค้าง และไม่ปล่อยสินเชื่อใหม่ให้แก่การขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับถ่านหิน


ส่วนกลุ่มธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือจากธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ธนาคารได้นำวิธี Implied Temperature Rise (ITR) ตามกรอบ SBTi มาใช้ในการวัดเป้าหมายและความคืบหน้าในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยธนาคารมีเป้าหมายจะทำให้ระดับอุณหภูมิของพอร์ตสินเชื่อลดลงสู่ระดับ 2.35 องศาเซลเซียส ภายในปี 2028 และ 1.50 องศาเซลเซียสในปี 2040 ซึ่งจะช่วยให้ระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบรรลุ Net Zero ได้ในปี 2050


2. การสนับสนุนลูกค้าตลอดเส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านการเงินยั่งยืนที่ครบถ้วน และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกขนาดในแต่ละอุตสาหกรรม พร้อมสนับสนุนการให้ความรู้และการนำเสนอ Technical Solutions ที่นำไปใช้ได้จริงแก่ลูกค้า โดยจะเริ่มจะกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ และต่อยอดไปสู่ลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอี และรายย่อย ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าปัจจุบันลูกค้ารายใหญ่อาจจะมีความพร้อมในการปรับเปลี่ยนมากกว่า แต่ในท้ายที่สุดก็จะเชื่อมโยงไปสู่กลุ่มที่รองๆลงไป


3. การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมตามหลักการ Equator Principles (EP) (EP adoption and implementation) เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยผลักดัน ‘การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ’ สู่ ‘การยกระดับการเงินที่ยั่งยืน’ เพื่อช่วยลูกค้าลดความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจ และเพื่อผลักดันการสนับสนุนแก่ลูกค้าและสังคมไปสู่เป้าหมาย การพัฒนาอย่างยั่งยืน


โดยเป็นธนาคารไทยแห่งแรกและแห่งเดียว ที่ริเริ่มการนำ Equator Principles (EP) ซึ่งเป็นกรอบการบริหารความเสี่ยงสำหรับสถาบันการเงิน ที่นำมาตรฐานสากล Best Practices มาใช้เป็นกรอบแนวทางในการระบุ ประเมิน และจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมควบคู่กับการให้สินเชื่อในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2022 จนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินการประเมินโครงการตามหลักการ EP ไปแล้วทั้งสิ้น 53 โครงการ คิดเป็นมูลค่าโครงการรวมกว่า 75,500 ล้านบาท


"ความยั่งยืนของไทยพาณิชย์เราเริ่มมาแล้วร้อยกว่าปี และสิ่งที่เราทำในวันนี้ คือการส่งต่ออนาคตที่ยั่งยืนให้กับลูกหลานได้อยู่ต่อไปอีกร้อยปี เพื่อที่จะเดินไปข้างหน้า ผู้คนจะต้องดำเนินชีวิตด้วยคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียม ธุรกิจจะต้องเติบโตต่อไปได้อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไทยพาณิชย์มุ่งมั่นเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืน พร้อมสนับสนุนและร่วมมือกับพันธมิตรส่งต่อความยั่งยืนให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม ผ่านการสร้างสรรค์นวัตกรรมและโซลูชั่นทางการเงิน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคมได้อยู่ อย่าง ยั่งยืน" นายกฤษณ์ กล่าว


เศรษฐกิจยังไม่แน่นอน-ไทยพาณิชย์ระมัดระวังปล่อยกู้


สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่นั้น นายกฤษณ์ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีการแถลงนโยบายเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ แต่คาดจะต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นออกมาเพื่อช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งจุดที่สำคัญคือหลังจากกระตุ้นแล้ว มาตรการระยะกลางและยาวเพื่อต่อยอดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดคุ้มค่ากับเงินที่ใช้ไป และเสริมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตซึ่งควรจะเป็นมาตรการเฉพาะจุด ไม่ใช่ในวงกว้างมากๆ


"เราไม่อยากให้มาตรการกระตุ้นเป็นแค่จุดพลุวูบเดียวก็หายไป แต่ต้องมี 2 มี 3 ต่อไปด้วยว่าจะต่อยอดไปอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยลดความไม่สมดุลที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่อย่างนั้นก็เป็นแค่จุดพลุแป๊บเดียวก็จบไป"


สำหรับในส่วนของธนาคารพาณิชย์นั้น ในสภาวะที่เศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนทั้งจากปัจจัยในประเทศและนอกประเทศ ธนาคารจึงยังคงมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงการดูแลคุณภาพหนี้เป็นหลัก มากกว่าการขยายสินเชื่อโดยคาดว่าสินเชื่อปีนี้จะเติบโตแบบ Low Single Digits


"ในสถานการณ์แบบนี้ธนาคารพาณิชย์ต่างก็มีความเข้มงวดในการปล่อยกู้กันทั้งนั้น ผนวกกับการดูแลหนี้อย่างเหมาะสมทั้งการติดตามและการขายหนี้ออกไป รวมไปถึงพยายามปรับโครงสร้างหนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งบางส่วนก็ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะเป็นส่วนที่เข้ามาตั้งแต่ช่วงโควิดฯและยังไม่ฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าด้วยการพิจารณาสินเชื่ออย่างระมัดระวัง การตั้งสำรอง-การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมทำให้ธนาคารพาณิชย์โดยรวมยังแข็งแกร่ง"