MENU

ก.ล.ต. ส่งบก.ปอศ. เชือดอดีตผู้จัดการกองทุนพร้อมพวก ใช้อินไซด์ซื้อขายหลักทรัพย์-สัญญาซื้อขายล่วงหน้า

 11 ต.ค. 2567 00:00

ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตผู้จัดการกองทุน "โกเมน นิยมวานิช" พร้อมพวก ต่อ บก.ปอศ. กระทำความผิด  กรณีใช้ข้อมูลอินไซด์ซื้อหรือขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าก่อนทำรายการซื้อขายของกองทุน ทำให้กองทุนเสียประโยชน์


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได่กล่าวโทษผู้กระทำความผิด 2 ราย ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กรณีซื้อหรือขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าก่อนทำรายการซื้อขายของกองทุน โดยใช้ข้อมูลการลงทุนของกองทุน และรายงานการดำเนินการต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)


สืบเนื่องจาก ก.ล.ต. ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อปี 2566 และตรวจสอบเพิ่มเติมพบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่า ผู้กระทำความผิดรวม 2 ราย ได้แก่ 1. นายโกเมน นิยมวานิช และ 2. นางสาวมนสิชา อุ้นพิพัฒน์ ได้ร่วมกันกระทำการเพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น ในประการที่น่าจะทำให้กองทุนรวมเสียประโยชน์


โดยนายโกเมน ในฐานะผู้จัดการกองทุน (ขณะกระทำผิดสังกัดบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบุคคลที่รู้หรือครอบครองข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ของกองทุนที่ตนเป็นผู้จัดการ ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคำสั่งของกองทุนรวมที่นายโกเมนเป็นผู้จัดการกองทุนให้แก่นางสาวมนสิชา


ขณะที่ นางสาวมนสิชา ได้ส่งคำสั่งซื้อหรือขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ก่อนที่นายโกเมนจะส่งคำสั่งซื้อหรือขายให้แก่บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของกองทุนจำนวนหลายรายการ ในช่วงปี 2565 อันเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 244/2 ประกอบมาตรา 244/1 และมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) แล้วแต่กรณี ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 2 ราย ต่อ บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป


พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ได้รายงานการดำเนินการดังกล่าวต่อ ปปง. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป เนื่องจากความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม


ทั้งนี้ ภายหลังการกล่าวโทษของก.ล.ต. กระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาต่อไป เป็นการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ และการพิจารณาของศาลยุติธรรม ตามลำดับ โดย ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดี และจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ในกระบวนการภายหลังก.ล.ต. ได้กล่าวโทษแล้ว