MENU

กลุ่มอลิอันซ์ คาดการณ์ปี 67 จีดีพีไทยขยายตัว 2.7% ก่อนขยับเป็น 3.2% ปีหน้า

 26 ต.ค. 2567 00:00

กลุ่มอลิอันซ์ ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 67 เติบโต 2.7% ก่อนขยับขึ้นเป็น 3.2% ในปีหน้า ปัจจัยหนุนจากการท่องเที่ยว ขณะที่เศรษฐกิจโลกโต 2.8% จีนขยายตัว 5%


นายลูโดวิค เซอร์บราน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มอลิอันซ์ เปิดเผยถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ว่า ในปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ระดับ 2.7% และจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.2% ในปี 2568 ปัจจัยหนุนจากรายได้ภาคท่องเที่ยวที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย แม้ตัวเลขนักท่องเที่ยวจะยังไม่กลับไปเท่าระดับก่อนช่วงโควิด แต่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาใกล้เคียงกับระดับก่อนปีโควิดแล้ว ภาคบริโภคที่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ค่อนข้างแข็งแกร่ง


ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ภาคการผลิตน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากโอกาสของการส่งออกไปยังประเทศจีน และการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระดับ 0.25% ซึ่งช่วยสนับสนุนภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจให้มีต้นทุนทางการเงินที่ลดลง และมีการจัดการค่าใช้จ่ายและหนี้สินได้ดีมากขึ้น โดยคาดว่า ธปท.ยังมีโอกาสจะลดดอกเบี้ยได้อีก 0.25% ในปี 2568


นอกจากนี้ ไทยยังเป็นประเทศที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ที่พร้อมรองรับการลงทุน ซึ่งจะทำให้เห็นภายใน 1-2 ปีนี้จะเห็นการลงทุนโครงการก่อสร้างใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น


ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ การเข้าสู่สังคมสูงวัย ที่ภาครัฐต้องเร่งปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของประชากรไทย รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง 91% ต่อจีดีพี

คาดการณ์ปี 67 เศรษฐกิจโลกโต 2.8%

พร้อมกันนี้ กลุ่มอลิอันซ์ ได้เปิดรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกอย่างรอบด้านสำหรับปี 2567-2569 โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตในระดับปานกลางแต่จะมีเสถียรภาพท่ามกลางปัญหาที่ยังคงดำเนินต่อไป และคาดว่าจะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 2.8% ต่อปี โดยเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะเป็นกำลังสำคัญของการเติบโตในปี 2567 แม้จะยังคงมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะถดถอย เศรษฐกิจโลกจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และยุโรปจะมีการเติบโตที่ช้าแต่คงที่ มาตรการรัดเข็มขัด การขึ้นภาษี และกลยุทธ์ลดต้นทุนในทั้งสองภูมิภาคจะส่งผลต่อจีดีพี


มีการคาดการณ์เงินเฟ้อจะชะลอตัวลง ซึ่งทำให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ สามารถผ่อนปรนนโยบายการเงินได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป นโยบายเช่นนี้จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค การขึ้นค่าจ้างจะช่วยกระตุ้นการบริโภคมากขึ้น แม้ว่าเงินเฟ้อในระดับสูงในบางภาคส่วนจะยังคงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ภาคธุรกิจยังฟื้นตัวไม่สม่ำเสมอ โดยมีสัญญาณของการเพิ่มการลงทุน แต่มีความกังวลเรื่องการล้มละลายในภาคธุรกิจ นโยบายของธนาคารกลางจะทำให้เกิดข้อจำกัดในตลาดการเงินโลก ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และความไม่แน่นอนทางการเมือง เช่น ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน



การเติบโตและความท้าทายของเอเชียแปซิฟิก

เศรษฐกิจจีนในปี 2567 คาดว่าจะเติบโตในอัตราประมาณ 5% แม้จะยังคงมีความเสี่ยงยังคงอยู่ ปัญหาของภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณสินค้าคงคลังจำนวนมากและราคาบ้านที่ลดลง ยังคงส่งผลต่อการบริโภคในภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกของจีนยังคงมีแนวโน้มที่ดีซึ่งส่งแรงหนุนให้ภาคการผลิตของประเทศ ธนาคารกลางจีนผ่อนปรนนโยบายและคาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในปี 2568 อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้อาจช่วยบรรเทาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่อาจจะไม่ได้ช่วยกอบกู้สถานการณ์


ในทางกลับกัน เศรษฐกิจของเอเชียแปซิฟิกในภาพรวมจะเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยคาดการณ์ว่าจีดีพีจะเพิ่มขึ้น 4.2% ในปี 2567 จากการเติบโตที่แข็งแกร่งของอินเดียและประเทศในกลุ่มอาเซียน การผ่อนคลายนโยบายการเงิน อัตราเงินเฟ้อที่เป็นไปตามเป้าหมายของธนาคารกลาง และการค้าโลกที่ฟื้นตัวเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจของภูมิภาค ธนาคารกลางของเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียจะยังคงปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อไปเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อลดลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ


เศรษฐกิจกำลังพัฒนาในเอเชียจะได้ประโยชน์จากพลวัตที่เปลี่ยนไปของโลกาภิวัตน์และการปฏิรูปนโยบายในประเทศ เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เช่น เวียดนาม ไทย และไต้หวัน จะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของความต้องการในภาคการส่งออก โดยเฉพาะในตลาดอย่างสหรัฐอเมริกา ประเทศต่างๆ หลายประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะยังสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศจากการกระจายความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก


ความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์การเมืองและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ

ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภูมิภาค สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงดำเนินต่อไป รวมถึงความตึงเครียดที่มากขึ้นในทะเลจีนใต้และไต้หวันยังคงสร้างความไม่แน่นอนให้กับนักลงทุน แม้จะมีความท้าทายเหล่านี้ เอเชียยังคงเป็นภูมิภาคที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจ โดยมีความโดดเด่นในด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยีดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐาน และทรัพยากรมนุษย์ ประเทศต่างๆ เช่น สิงคโปร์และจีนเป็นผู้นำในแง่ของความสะดวกในการทำธุรกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แม้จะยังคงมีปัญหาในด้านต่างๆ เช่น การมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานและทรัพย์สินทางปัญญา