"ราช กรุ๊ป-เอไอเอฟ กรุ๊ป-โรนิตรอน" ร่วมพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจน - กรีนแอมโมเนีย ในลาว
22 พ.ย. 2567 00:00บมจ. ราช กรุ๊ป (RATCH) เซ็นเอ็มโอยูร่วมกับ "เอไอเอฟ กรุ๊ป-โรนิตรอน" ศึกษาและแสวงหาโอกาสในการพัฒนาโครงการกรีนไฮโดรเจนและกรีนแอมโมเนียจากพลังงานหมุนเวียนใน สปป. ลาว เพื่อรองรับความต้องการพลังงานสะอาดของภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่งและการผลิตไฟฟ้าในอนาคต
นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ร่วมด้วย นายลิดทิกอน พูมมะสัก ประธานบริษัท บริษัท เอไอเอฟ กรุ๊ป จำกัด และนายสุภกิณห์ สมศรี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โรนิตรอน จำกัด ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือศึกษาและแสวงหาโอกาสในการพัฒนาโครงการกรีนไฮโดรเจนและกรีนแอมโมเนียจากพลังงานหมุนเวียนใน สปป. ลาว เพื่อรองรับความต้องการพลังงานสะอาดของภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่งและการผลิตไฟฟ้าในอนาคต พร้อมสนับสนุนความมุ่งมั่นของนานาชาติสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
โดยการลงนามครั้งนี้ เป็นการผนึกกำลังความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของพันธมิตรธุรกิจ 3 บริษัท ทั้ง ราช กรุ๊ป ที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าชั้นนำที่มีความรู้และประสบการณ์อย่างยาวนานในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนโดยมีฐานการผลิตในประเทศไทย สปป.ลาว ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วน เอไอเอฟ กรุ๊ป เป็นกลุ่มธุรกิจชั้นนำของ สปป.ลาว ซึ่งมีฐานธุรกิจที่มั่นคงและลงทุนในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ทั้งภาคการเงิน พลังงานและสาธารณูปโภค โลจิสติกส์ ฯลฯ และโรนิตรอน มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยี การจำหน่ายและการจัดการโลจิสติกส์ด้านเชื้อเพลิงสะอาด
ทั้งนี้ ความร่วมมือของทั้ง 3 ฝ่าย ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างธุรกิจกรีนไฮโดรเจนและกรีนแอมโมเนีย ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงแห่งอนาคตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืน และเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ในการสร้างมูลค่าและคุณค่าในระยะยาวต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมในอนาคต
สำหรับ สปป.ลาว นับว่ามีศักยภาพและเหมาะสมสำหรับที่ตั้งดำเนินโครงการ เนื่องจากมีความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นใช้ในกระบวนการผลิตเชื้อเพลิงกรีนไฮโดรเจน โดยมีแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีความหลากหลาย อาทิ พลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ มีโครงสร้างสายส่งไฟฟ้าและสถานีไฟฟ้าย่อย มีปริมาณแหล่งน้ำดิบที่เพียงพอใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต รวมทั้งมีระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งจะรองรับกระบวนการผลิตเป็นเชื้อเพลิงกรีนไฮโดรเจนและกรีนแอมโมเนียได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศไทย ทั้งนี้ ตลาดเป้าหมายรองรับความต้องการใช้กรีนไฮโดรเจนและกรีนแอมโมเนีย ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ เป็นต้น