MENU

ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนปรับลงสู่เกณฑ์ “ซบเซา” กังวล "ความขัดแย้ง-นำเข้า ส่งออก"

 13 ม.ค. 2568 00:00

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ในเกณฑ์ "ซบเซา" ที่ระดับ 78.52 นักลงทุนคาดหวังปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจฟื้นตัว และเงินทุนไหลเข้า ขณะที่กังวลปัจจับลบจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ การนำเข้า-ส่งออก และเงินเฟ้อ พร้อมจับตามองนโยบายการค้าสหรัฐฯ หลัง "ทรัมป์" เข้ารับตำแหน่ง 20 ม.ค.นี้


นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนธันวาคม 2567 (สำรวจระหว่างวันที่ 18-31 ธันวาคม 2567) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index : ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับลงมาอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” ที่ระดับ 78.52 นักลงทุนมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการไหลเข้าของเงินทุน และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ การนำเข้าส่งออกสินค้า และสถานการณ์เงินเฟ้อ


ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนธันวาคม2567 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้


ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มีนาคม 2568) อยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” (ช่วงค่าดัชนี 40-79) ที่ระดับ 78.52

ความเชื่อมั่นรายกลุ่มนักลงทุน พบว่าความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคล อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” ในขณะที่กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ กลุ่มนักลงทุนสถาบัน และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา"

หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดพาณิชย์ (COMM)

หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON)

ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ

ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ


“ผลสำรวจ ณ เดือนธันวาคม 2567 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนทุกกลุ่มปรับลดลง โดยกลุ่มนักลงทุนบุคคล ปรับลด 15.6% อยู่ที่ระดับ 85.71 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับลดลง 22.2% อยู่ที่ระดับ 70.00 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับลดลง 34.2% อยู่ที่ระดับ 77.78 และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศปรับลดลง 43.7% อยู่ที่ระดับ 75.00"


ในช่วงเดือนธันวาคม 2567 SET Index ปรับตัวในกรอบแคบ เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยใหม่ในการกระตุ้นตลาด มูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์ในเดือนนี้ค่อนข้างเบาบาง และยังมีแรงเทขายจากนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง โดยได้แรงหนุนเล็กน้อยจากการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในปี 2568 และเม็ดเงินไหลเข้าจากการซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีในช่วงสุดท้ายของปี โดย SET Index ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2567 ปิดที่ 1,400.21 ปรับตัวลดลง 1.9% จากเดือนก่อนหน้า ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนธันวาคม 2567 อยู่ที่ 40,704 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 10,552 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิกว่า 146,906 ล้านบาท


ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ การเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดี Donald Trump ในวันที่ 20 มกราคม 2568 โดยเฉพาะการประกาศนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลต่อการดำเนินการทางเศรษฐกิจในหลายประเทศ รวมทั้งความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ผลกระทบต่อสินค้าส่งออกของไทยจากมาตรการกีดกันการค้าของ Trump 2.0 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังงบประมาณสามารถเบิกจ่ายได้ตามปกติ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการลงทุนภาครัฐและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และการประกาศผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน