
ทีทีบี ใจป้ำ! อนุมัติวงเงิน 6.3 พันล้าน จ่ายปันผลเพิ่มอีกหุ้นละ 0.064 - 0.067 บาท
20 ก.พ. 2568 00:00บอร์ดทีเอ็มบีธนชาติ (ทีทีบี) อนุมัติวงเงิน 6,312 ล้านบาท จ่ายปันผลเพิ่มอีกหุ้นละ 0.064 - 0.067 บาท รวมเงินปันผลทั้งปี 0.13 บาท คิดเป็นสัดส่วน 60% ของกำไรสุทธิ
ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารมีมติให้ธนาคารขออนุมัติการจ่ายเงินปันผลจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น (AGM) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 21 เมษายน 2568 ในอัตรา 60% ของกำไรสุทธิในปี 2567 และขออนุมัติวงเงินในการจ่ายเงินปันผลครั้งที่ 2 จำนวน 6,312 ล้านบาท โดยมีกำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD (วันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล) ในวันที่ 25 เมษายน 2568 และกำหนดจ่ายเงินปันผลเป็นเงินสดในวันที่ 20 พฤษภาคม 2568
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า สำหรับผลในการดำเนินงานปี 2567 ทีทีบีได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้วในอัตรา 0.065 บาทต่อหุ้น เมื่อเดือนตุลาคม 2567 และเตรียมขออนุมัติการจ่ายเงินปันผลครั้งที่ 2 ภายใต้วงเงิน 6,312 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นอัตราเงินปันผลต่อหุ้น (Dividend per share) ในเบื้องต้นที่ 0.064 - 0.067 บาท รวมเป็นอัตราเงินปันผลของทั้งปี 2567 ที่ประมาณ 0.13 บาท เพิ่มขึ้นราว 24% จากอัตรา 0.105 บาท ในปีก่อนหน้า
ทั้งนี้ ธนาคารจะแจ้งอัตราเงินปันผลต่อหุ้นที่แน่นอนอีกครั้งในวันที่ 4 เมษายน 2568 ภายหลังจากที่ทราบผลการซื้อหุ้นคืนและผลการใช้สิทธิ TTB-W1
การจ่ายเงินปันผลทั้ง 2 ครั้งเทียบเท่ากับอัตราการจ่ายเงินปันผล (Dividend Payout Ratio) ที่ 60% จากกำไรสุทธิในปี 2567 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 55% ในปีก่อนหน้า และคิดเป็นผลตอบแทนจากเงินปันผล หรือ Dividend Yield ที่ประมาณ 7% ต่อปี เมื่อเทียบกับราคาหุ้น TTB ณ สิ้นปี 2567 ที่ 1.86 บาท โดยรวมแล้วถือว่าเป็นผลตอบแทนจากเงินปันผลที่สูงเป็นลำดับต้นๆ ในกลุ่มธนาคาร
สำหรับแผนการบริหารส่วนทุน (Capital management) ที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อนไปนั้น ทีทีบียังคงให้ความสำคัญกับการเติบโตสินเชื่ออย่างมีคุณภาพและเน้นย้ำการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนทางการเงิน ต้นทุนฃการดำเนินงาน และต้นทุนความเสี่ยง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ธนาคารสามารถรักษาระดับผลกำไรได้อย่างต่อเนื่อง ในประการสำคัญคือสามารถดำรงเงินกองทุนให้อยู่ในระดับสูงมาโดยตลอด สะท้อนได้จากอัตราส่วนเงินกองทุนรวมที่ 19.3% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 12.0% อย่างมีนัยสำคัญ
จากฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งจึงทำให้ธนาคารมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการส่วนทุนส่วนเกิน (Excess capital) และเป็นที่มาของแผนการบริหารส่วนทุน โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นผ่าน3 แนวทางสำคัญ ได้แก่
1. การเพิ่มอัตราการจ่ายเงินปันผล จากระดับ 30% - 35% ในช่วงก่อนรวมกิจการ มาอยู่ที่ระดับ 50% และ 55% ในช่วงปี 2565 - 2566 และ 60% ในปี 2567
2. การเพิ่มอัตราส่วนผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (ROE) ผ่านโครงการซื้อหุ้นคืนระยะ 3 ปี ภายใต้วงเงิน 21,000 ล้านบาท
3. การสร้างการเติบโตทางธุรกิจจากภายนอก หรือ Inorganic growth โดยธนาคารเตรียมขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเข้าซื้อหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์ธนชาต และอยู่ระหว่างการทำ Due Diligence เพื่อพิจารณาการเข้าซื้อบริษัท ที ลิสซิ่ง โดยเล็งเห็นถึงโอกาสในการต่อยอดและสนับสนุนกลยุทธ์ Ecosystem ของธนาคาร