MENU

ไฟเขียวพ.ร.ก.เพิ่มอำนาจ ก.ล.ต. สกัด "ปั่นหุ้น-อินไซด์-Naked Short" ฟื้นเชื่อมั่นตลาดทุน

 27 มี.ค. 2568 00:00

ครม. ไฟเขียว พ.ร.ก.เพิ่มอำนาจ ก.ล.ต. คุมเข้มตลาดหุ้นป้องกันการปั่นหุ้น สร้างราคา ทำ Naked Short Selling ให้อำนาจสอบสวนคดีที่มีผลกระทบสูง (high impact) เอาผิดผู้สอบบัญชี รวมถึงเข้าไปดูแลเรื่องหุ้นกู้ "พิชัย" มั่นใจสร้างความเชื่อมั่นตลาดหุ้น ขณะที่ ก.ล.ต. - ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขานรับเชื่อช่วยฟื้นความเชื่อมั่น ตรวจสอบ นำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้เร็วขึ้น


นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 68 ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...โดยเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องออกร่างพ.ร.ก.ฉบับนี้ เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ที่ผ่านมาอยู่ในสภาวะที่ทรงตัว บริเวณ 1,600-1,700 จุด และค่อยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1,400-1,500 จุด และสิ่งที่ทำให้ความเชื่อมั่นในตลาดหลักทรัพย์หายไปคือ ความไม่เชื่อมั่นว่า กฏหมายของเราจะสามารถกำกับหรือดูแลของหลักทรัพย์ในตลาดได้อย่างทั่วถึง ซึ่งตัวที่มีปัญหามากสุด คือ การขายหลักทรัพย์โดยที่ยังไม่มีหลักทรัพย์อยู่ในครอบครอง หรือ Naked Short Selling ซึ่งพบมีการซื้อขายชอร์ตเป็นปริมาณสูงมาก ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่


"Short Selling เป็นเรื่องปกติไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย ทุกประเทศอนุญาตอยู่แล้ว แต่ Naked Short Selling ผู้ที่ไม่มีหุ้นอยู่ในมือแล้วนำหุ้นไปขาย แล้วค่อยไปซื้อคืนมานั้น ทั่วโลกไม่อนุญาต แต่ในกระบวนการตรวจสอบ ไม่สามารถไปกำกับได้ เพราะเราสามารถกำกับได้ภายในประเทศเท่านั้น เพราะการซื้อขายกับต่างประเทศ ไม่ได้เข้าระบบของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)" นายพิชัย กล่าว


ดังนั้นสิ่งที่เราแก้ไข คือการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบและการกำกับดูแลการขายหลักทรัพย์โดยที่ยังไม่มีหลักทรัพย์อยู่ในครอบครอง หรือ Naked Short Selling และเมื่อมีการออกกฎหมายฉบับนี้ เมื่อทราบว่ามีการซื้อจากต่างประเทศ คนทำจะมีโทษปรับและโทษอาญาที่ค่อนข้างรุนแรง และคาดว่าสามารถปราบได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด และค่อนข้างเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน


นอกจากนี้ ยังมีการแจ้งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบ ถึงเหตุผลและความจำเป็น ซึ่งจะพบว่า กรณีใหญ่ๆ ที่พบความเสียหายเป็นหมื่นล้าน เนื่องจากกระบวนการสกัดกั้นอาจไม่ทันท่วงที ดังนั้นจึงได้มีการยกระดับการทำหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน เพิ่มความเข้มแข็งของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนให้เข้มงวดมากขึ้น


โดยร่างพ.ร.ก.ฉบับนี้ ยังมีการกำหนดสิทธิของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ให้ครอบคลุมถึงการดำเนินการแทนผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการและล้มละลาย ต้องไปดูว่า ผู้ถือหุ้นกู้กลุ่มไหนได้รับการดูแลหรือไม่ ไม่ใช่ว่าใครมือยาวสาวได้สาวเอา และต้องเข้าไปกำกับถึงการฟื้นฟูองค์กรว่าให้ความเป็นธรรมกับผู้ถือหุ้นทั้งรายใหญ่รายย่อย และสมเหตุสมผลหรือไม่ ตลอดถึงการล้มละลายหากฟื้นฟูไม่ได้ จะมีการแบ่งส่วนแบ่งให้ผู้ถือหุ้นอย่างไร เพื่อกำกับตั้งแต่เริ่มมีปัญหาทุจริต การไล่จับและการฟื้นฟู จนจบกระบวนการล้มละลาย


นายพิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า บางกรณีพื้นฐานหุ้นดี ผลประกอบการดี แต่อยู่ๆ หุ้นลง เพราะมีข่าวว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่บางรายได้นำหุ้นไปจำนองไว้ หรือนำไปลงทุนอย่างอื่น เมื่อถูกปัญหาหุ้นลงมา ก็ถูก Forced sell หรือการบังคับขาย ดังนั้นอาจจะต้องเพิ่มมาตรการทางกฎหมายเพื่อให้กรณีเหล่านี้ตรวจสอบได้ ทั้งการกระทำผิด และมีมาตรการยับยั้งความเสียหาย เช่น หาก ก.ล.ต. พบอาจจะมีการทุจริตในโครงการขนาดใหญ่ หรือก.ล.ต. อาจน่าสงสัย เกิดการซื้อขายหุ้นที่อาจเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้บริหารหรือไม่ ก็สามารถเข้าไปชี้และยับยั้งตั้งแต่ต้น


นอกจากนี้ ครม. เห็นชอบในหลักการให้ก.ล.ต. สามารถเป็นพนักงานสอบสวนในคดีได้ แต่ในทางปฏิบัติเชื่อว่า ก.ล.ต. กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ไม่ได้ทำทุกคดีจะทำเฉพาะคดีใหญ่ๆ ซึ่งประเด็นการสอบสวนจะเป็นหน้าที่ของก.ล.ต. ที่ไปทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะมีการมอบหมายให้เลขากฤษฎีกาช่วยดูรายละเอียด


"การดำเนินการเรื่องนี้เพื่อดูแลตลาดหลักทรัพย์ เพื่อทำให้สภาวะเศรษฐกิจเกิดความน่าเชื่อถือในประเทศ ดังนั้น การทำสิ่งเหล่านี้มันสอดคล้องกับประเทศต่างๆที่เจอปัญหาเดียวกัน เช่น ในสหรัฐอเมริกา หรือเกาหลีใต้"


ทั้งนี้ คาดกฤษฎีกาจะใช้เวลาในการพิจารณารายละเอียดประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งหากตรงตามหลักการก็จะมีการประกาศเป็นพ.ร.ก. ต่อไป


นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า การ Short Selling ที่เป็นเครื่องมือสากลที่อนุญาตให้ทำได้ แต่ทำอย่างไรเพื่อไม่ให้คนใช้ช่องว่างในการกระทำผิด ที่ผ่านมาในต่างประเทศมีการเอาผิดที่ตัวบุคคล แต่กฎหมายของเราไปที่เรื่องความปลอดภัย ซึ่งพ.ร.ก. นี้ จะทำให้เกิดการรายงาน ทำให้กระบวนการตรวจสอบเกิดความกระชับและใช้เวลาลดน้อยลง โดยยืนยันว่า สำนักงาน ก.ล.ต. มีความพร้อมที่จะทำงานร่วมงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


สำหรับกรณีการเป็นพนักงานสอบสวนในคดีที่มี high impact ก.ล.ต. มีอำนาจในการทำคดีและเมื่อสรุปสำนวน เสร็จสิ้น จะนำส่งสำนวนและความเห็นไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาสั่งฟ้องซึ่งเป็นไปตามหลักการ check and balance ตามกระบวนการยุติธรรม การดำเนินการดังกล่าว ก.ล.ต. สามารถบูรณาการพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือพนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการร่วมสอบสวนคดีโดยใช้ความเชี่ยวชาญมาช่วยให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายในกรณี high impact รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น


นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เชื่อมั่นว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว จะส่งผลดีต่อตลาดทุนโดยรวม เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในเรื่องของการกำกับดูแลการซื้อขายและการตรวจสอบการทำธุรกรรมของบริษัทจดทะเบียนแล้ว ยังจะช่วยให้การดำเนินการทางคดีและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการกระทำความผิดในตลาดทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลงโทษผู้กระทำความผิดได้รวดเร็วมากขึ้น อันจะช่วยป้องปรามให้ผู้ที่คิดจะกระทำความผิดเกิดความเกรงกลัว โดยมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดเพิ่มเติมในร่างกฎหมายดังกล่าว สามารถจะเสริมสร้างความเชื่อมั่น (Trust & Confidence) ให้แก่ผู้ลงทุน ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนของตลาดทุนไทยในขณะนี้


สำหรับ ร่าง พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ (ชุดยกระดับการกำกับดูแลกิจการและมาตรการบังคับใช้กฎหมาย) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีสาระสำคัญ 6 ข้อ ประกอบด้วย


1. การเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบและการกำกับดูแลการขายหลักทรัพย์โดยที่ยังไม่มีหลักทรัพย์อยู่ในครอบครอง (การขายชอร์ต) โดยเพิ่ม (1) หน้าที่ของผู้ลงทุนในการขายชอร์ตต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ต้องแสดงได้ว่ามีการยืมหลักทรัพย์ก่อนส่งคำสั่ง เป็นต้น (2) หน้าที่ของผู้ให้บริการในต่างประเทศรายงานข้อมูลผู้ถือหลักทรัพย์ที่แท้จริงต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และ (3) มาตรการลงโทษทางอาญา กรณีผู้ทำการขายชอร์ตฝ่าฝืนหลักเกณฑ์


2. การยกระดับการทำหน้าที่ของผู้ประกอบการในตลาดทุน เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน ไม่ว่าจะเป็นผู้สอบบัญชี สำนักงานสอบบัญชี ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้ประเมินราคาทรัพย์สิน สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ผู้ให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดทุนที่อยู่ต่างประเทศ รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบ หลักเกณฑ์การปฏิบัติหน้าที่ และมาตรการลงโทษทางอาญาในกรณีที่มีการปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่อง และโทษปรับเป็นพินัยกรณีที่เป็นความผิดเพียงเล็กน้อย โดยยังคงมีโทษทางปกครอง เช่น การพักการประกอบการ การเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ เป็นต้น เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และลดปัญหาทุจริตฉ้อฉล


3. การกำหนดสิทธิของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ให้ครอบคลุมทั้งกระบวนการฟื้นฟูกิจการและล้มละลายจนกว่าคดีจะเสร็จสิ้น เพื่อให้ผู้ถือหุ้นกู้ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิที่พึงมี โดยไม่ตัดสิทธิผู้ถือหุ้นกู้ที่จะดำเนินการในนามของตนเอง ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ยังไม่สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้และกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย ทำให้ผู้ถือหุ้นกู้ต้องดำเนินการด้วยตนเองทั้งกระบวนการ


4. การรายงานข้อมูลการก่อภาระผูกพันในหลักทรัพย์ ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และมีบทกำหนดโทษหากฝ่าฝืน รวมถึงให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อประชาชน เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่สำคัญครบถ้วน ประกอบการตัดสินใจในการลงทุน เนื่องจากที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนถูกบังคับขายหุ้น (Forced Sell) ที่นำไปจำนำหรือก่อภาระผูกพันไว้กับบุคคลอื่นในจำนวนที่เป็นนัยสำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นและโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงปัจจุบันยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายกำกับดูแลให้รายงานข้อมูลการก่อภาระผูกพันในหลักทรัพย์


5. การกำหนดมาตรการทางกฎหมายเพื่อยับยั้งธุรกรรมที่อาจเป็นการเอาเปรียบหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน เพื่อเป็นมาตรการเชิงป้องกัน (Preventive Measure) กรณีมีการทำธุรกรรมที่ไม่เหมาะสมของบริษัทจดทะเบียนและบริษัทหลักทรัพย์ที่อาจส่งผลกระทบต่อนิติบุคคลและประชาชนผู้ลงทุน และบทกำหนดโทษของการฝ่าฝืนมาตรการดังกล่าว รวมถึงเพิ่มบทบัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจสืบสวนและสอบสวนการกระทำความผิด มีอำนาจในการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด และมีอำนาจปล่อยทรัพย์สินที่จำเป็นต่อการดำเนินการค้าตามปกติได้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถป้องกันความเสียหายและพิทักษ์ประโยชน์ของผู้ลงทุนนตลาดทุนได้


6. การสอบสวนคดีที่อาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุนหรืออาจมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ (High Impact) โดยกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจสืบสวนและสอบสวนการกระทำความผิดในคดี High Impact เนื่องจากเป็นผู้ใกล้ชิดกับข้อเท็จจริงและมีความรู้ความเชี่ยวชาญในกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลา ขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ซ้ำซ้อนกันระหว่างหน่วยงาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้อย่างทันท่วงที