
CGSI ประเมินทิศทางหุ้นไทยเดือน เม.ย. จับตาภาษีและดอกเบี้ยนโยบาย
2 เม.ย. 2568 00:00บล.ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI เปิดมุมมองแนวโน้มตลาดหุ้นไทยเดือน เม.ย.68 จับตาการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากไทยของสหรัฐฯ และทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ
ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า ไทยอยู่อันดับที่ 11 ของประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯมากสุดในปี 67 โดยไทยเกินดุลสหรัฐ 4.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ตามข้อมูลของ census.gov.com ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐมีสัดส่วน 18% ของมูลค่าการส่งออกโดยรวมของไทยหรือ 10.6% ของ GDP ในปี 67 และสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าสินค้าที่ส่งออกไปตลาดสหรัฐในปีที่แล้ว ตามข้อมูลของ The Observatory of Economic Complexity (OEC)
ดังนั้น หากสหรัฐฯปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากไทย ฝ่ายวิเคราะห์ฯเชื่อว่าจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อไทย โดยเฉพาะต่อภาคการผลิตและการบริโภคภายในประเทศรวมทั้งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยจนถึงปานกลาง
ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI ระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 68 Bloomberg consensus จึงคาดการณ์ว่าน่าจะไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมจนถึงไตรมาส 4/68
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิเคราะห์ฯคาดว่า ธปท.อาจปรับลดดอกเบี้ยอีก 25bp เป็น 1.75% ในวันที่ 30 เม.ย.นี้ ซึ่งจะเป็นข่าวดีสำหรับSET หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.68
ทั้งนี้ ฝ่ายวิเคราะห์ฯประมาณการว่า เหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นน่าจะทำให้ GDP ลดลง 0.1 - 0.2%
ฝ่ายวิเคราะห์ฯ ระบุว่า กระทรวงแรงงานเตรียมจัดประชุมไตรภาคีต้นเดือนเม.ย. 68 เพื่อหารือเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาททั่วประเทศ ซึ่งจะมีผล วันที่ 1 พ.ค. 68 โดยปัจจุบันมีเพียง 5 จังหวัดที่กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 400 บาท คือ ภูเก็ต, สมุย, ระยอง, ฉะเชิงเทราและชลบุรี
ดังนั้นฝ่ายวิเคราะห์ฯ มองว่า รัฐน่าจะเพิ่มจำนวนจังหวัดที่มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 400 บาท/วัน มากกว่าจะกำหนดให้ใช้อัตราเดียวกันทั่วประเทศ ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI คาดว่าปัจจัยลบรุนแรงทั้งจากในและนอกประเทศน่าจะทำให้ดัชนี SET แกว่งตัวช่วง 2 - 3 เดือนข้างหน้า จึงเน้นการลงทุนในหุ้นปลอดภัยและหุ้นที่มีอัตราผลตอบแทนสูง และคงเป้าดัชนี SET สิ้นปี 68 อยู่ที่ 1,380 จุด ซึ่งเท่ากับ P/E 14 เท่าในปี 69 หรือ -2SD ของค่าเฉลี่ย 10 ปี โดยมองว่า downside risk จะมาจากสถานการณ์การเมืองของไทยที่ตึงเครียดมากขึ้นและการปรับภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ