
ThaiBMA เผยยอดหุ้นกู้ Q1/68 เพิ่ม 2.2% จับตากลุ่มอสังหาฯ รับมือผลกระทบแผ่นดินไหว
3 เม.ย. 2568 00:00สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เผยตลาดตราสารหนี้ไทยไตรมาส 1 ปี 68 มูลค่าคงค้าง 17.5 ล้านล้านบาท ขยายตัว 2.2% จากการเพิ่มขึ้นของพันธบัตรภาครัฐเป็นสำคัญ ขณะที่ตราสารหนี้ภาคเอกชนมีมูลค่าคงค้างใกล้เคียงเดิม พร้อมแนะจับตากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ รับมือผลกระทบแผ่นดินไหวมียอดครบกำหนดชำระไตรมาสละ 4 หมื่นล้านบาท
นายสมจินต์ ศรไพศาลกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า มูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2568 เท่ากับ 17.5 ล้านล้านบาท ขยายตัว 2.2% จากปีที่แล้ว จากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ที่ออกโดยภาครัฐเป็นสำคัญ ทั้งนี้ในส่วนของการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว (หุ้นกู้ระยะยาว) มีมูลค่า 203,486 ล้านบาท ลดลง 1.76% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยหุ้นกู้กลุ่มI nvestment grade โดยรวมมีการออกมากกว่ามูลค่าที่ครบกำหนด ในขณะที่หุ้นกู้กลุ่ม High yield มีการออกน้อยกว่ามูลค่าที่ครบกำหนด กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการออกสูงสุด3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่ม Energy Property และFinance ตามลำดับ
สำหรับหุ้นกู้ที่มีการผิดนัดชำระหนี้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนั้น มีมูลค่า 1,605 ล้านบาท จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท โคลเวอร์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ (CV) วงเงิน 452 ล้านบาท, บริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล จำกัด (WTX) วงเงิน 408 ล้านบาท และบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) (CHO) วงเงิน 745 ล้านบาท
ขณะที่มีหุ้นกู้ที่เลื่อนชำระในไตรมาส 1 นี้ 9 ราย ได้แก่ บริษัท ริชี่ เพลซ2002 จำกัด (มหาชน) (RICHY) วงเงิน 1,534 ล้านบาท, บริษัท โคลเวอร์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ (CV) วงเงิน 452 ล้านบาท, บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (CGD) วงเงิน 798 ล้านบาท, บริษัท เจซีเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (JCK) วงเงิน 928 ล้านบาท, บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (PRIME) วงเงิน 2,025 ล้านบาท, บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน)(NRF) วงเงิน 1,300 ล้านบาท, บริษัท ไทยโพลีคอนส์ จำกัด (มหาชน) (TPOLY) วงเงิน 360 ล้านบาท, บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (EP) วงเงิน 1,030 ล้านบาท และบริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) (ECF) วงเงิน 389 ล้านบาท
นายสมจินต์ กล่าวอีกว่า ในส่วนหุ้นกู้ของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์นั้น หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวแล้ว ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อเนื่อง โดยกลุ่มอสังหาริมทรัพย์มีวงเงินหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดประมาณไตรมาสละ 40,000 ล้านบาท รวม 3 ไตรมาสที่เหลือของปีประมาณ 120,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของบริษัท BIG NAME ก็คงไม่น่ามีปัญหา แต่ก็เป็นปัจจัยที่ต้องดูแลต่อไป โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทขนาดเล็ก หรือ Non Grade ก็จะต้องเตรียมที่จะหาแหล่งเงินทุนอื่นๆ เพื่อรองรับหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดต่อไป
ทั้งนี้ เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government bond yield curve) ในไตรมาส 1 ปี 2568 มีการปรับตัวในทิศทางขาลงโดยเฉพาะในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ หลักจากที่กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ลงมาอยู่ที่ระดับ 2.00% ส่งผลให้ Bond yield ไทยรุ่นอายุ 2 ปี 5 ปี และ 10 ปี ปรับตัวลดลง 31 - 35 bps. จากสิ้นปี 2567 มาอยู่ที่ระดับ 1.69%, 1.74% และ 1.99% ตามลำดับ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2568
เส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate bond yield curve) ในไตรมาส 1 ปี 2568 ของหุ้นกู้อันดับเครดิตต่างๆ ปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล โดยอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนรุ่นอายุ 5 ปี ของหุ้นกู้กลุ่ม AAA , AA, A และ BBB+ ปรับตัวลดลง 26 - 52 bps. มาอยู่ที่ระดับ 2.29%, 2.63%, 3.01% และ 4.31% ตามลำดับ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2568
ด้านกระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ (Fund flow) ในไตรมาสแรกของปี 2568 เป็นการซื้อสะสมสุทธิตราสารหนี้ไทยจำนวน 10,297 ล้านบาท โดยเป็นผลรวมของการขายสุทธิตราสารหนี้ไทย 11,989 ล้านบาทในเดือนมกราคม ก่อนพลิกกลับมาเป็นการซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทยในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมรวม 22,286 ล้านบาท หลังจากการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีทรัมป์ ทำให้การถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2568 เท่ากับ 8.74 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5%ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย โดยตราสารหนี้ไทยที่ต่างชาติถือครองมีอายุคงเหลือเฉลี่ย 8.4 ปี ลดลงจาก 8.7 ปีเมื่อสิ้นปี 2567
นายสมจินต์ กล่าวเพิ่มเติมถึง ผลการสำรวจการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปี 2568 ที่ผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่คาดว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไปประมาณ 1 -2 ครั้ง รวม 0.25 - 0.50% ลงมาอยู่ที่ 1.50 - 1.75% จากปัจจุบันที่ 2.00%
สำหรับการคาดการณ์ Bond yield ไทย ผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่า Bond yield ไทยรุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี ในช่วงที่เหลือของปี 2568 จะขยับตัวลดลงเฉลี่ยราว 4 - 7 pbs. จากสิ้นไตรมาส 1 ปี 2568 จากปัจจัยเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำเป็นสำคัญ
"กรณีภาษีตอบโต้ของทรัมป์นั้น เป็นเรื่องที่ตลาดรับรู้มาเป็นช่วงๆ อยู่แล้ว แต่ก็ยังต้องติดตามต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะอัตราภาษีที่เก็บไทยนั้นสูงกว่าคาดการณ์ค่อนข้างมาก จึงต้องติดตามการเจรจาของภาครัฐว่าจะได้ผลอย่างไร พร้อมๆกับที่ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องก็จะต้องหาทางในการรองรับผลกระทบด้วย โดยคาดการณ์ธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้น่าจะเพียงพอต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น"