MENU

ทิสโก้คาดมาตรการภาษีทรัมป์ ฉุด GDP ไทยโตแค่ 1.45% แนะกลยุทธ์ลงทุนทยอยซื้อ 6 สินทรัพย์

 3 เม.ย. 2568 00:00

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) ประเมิน "ทรัมป์" ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสูงสุดในรอบกว่า 100 ปี ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวชัดเจน เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยเพิ่มขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจไทยอาจโตต่ำเพียง 1.45% ธนาคารทิสโก้แนะทยอยซื้อ 6 สินทรัพย์รับดอกเบี้ยขาลง หุ้นที่ประเทศที่มีสัดส่วนส่งออกไปสหรัฐฯ ต่อ GDP น้อย และราคาหุ้นน่าสนใจ ได้แก่ ตราสารหนี้โลก Global REITs หุ้นอินเดีย ญี่ปุ่น จีน และไทย


นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยว่า กรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการขึ้นภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากหลายประเทศเมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมา นับเป็นมาตรการที่เข้มงวดที่สุดในรอบกว่า 100 ปี เพื่อปกป้องเศรษฐกิจและลดขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ส่งผลให้เกือบ 60 ประเทศเผชิญกับอัตราภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายน ยกเว้นสินค้าบางประเภท เช่น พลังงาน เซมิคอนดักเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยา และทอง ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ถูกตอบโต้โดยตรงก็เผชิญอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้น 10% โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 เม.ย.นี้


จากอัตราภาษีศุลกากรที่ปรับเพิ่มขึ้นมากนี้ โดยเฉพาะ Reciprocal Tariffs ทาง TISCO ESU มองว่า จะส่งผลให้อัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยที่สหรัฐฯ จัดเก็บกับคู่ค้าปรับขึ้นราว 14 จุด (Percentage Point (ppt)) และหากรวมกับการตั้งภาษีนำเข้ายานยนต์ อัตราภาษีเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นราว 16 จุด ซึ่งก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เคยประเมินว่า ทุก 1 จุดที่อัตราภาษีเฉลี่ยปรับขึ้น จะกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจราว -0.14 จุด ดังนั้น หากมีการปรับขึ้นอัตราภาษีตามที่ประกาศนี้ จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงชัดเจน และมีโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession Risks) เพิ่มขึ้นมาก


ด้านผลกระทบต่อตลาดเงิน การขึ้นภาษีดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (Bond Yield) ระยะ 10 ปี ปรับลดลงต่ำกว่า 4.1% ขณะเดียวกัน Fed Funds Futures มอง Fed จะลดดอกเบี้ยมากขึ้นเป็น -3.2 ครั้ง หรือลดลง 0.81% ในปีนี้ ขณะที่ตลาดซื้อขายล่วงหน้า ดัชนีหุ้นหลักของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงหนัก โด ยDow Jones ลดลง 1.9%, S&P500 ลดลง 2.7%, และ Nasdaq ลดลงกว่า 3.3% ส่วนราคาน้ำมันดิบ WTI ลดลงต่ำกว่า 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สะท้อนภาวะเสี่ยงสูง (Risk-off) เป็นวงกว้าง ขณะที่ราคาทองคำยังทรงตัวอยู่ใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3,150 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อทรอยออนซ์


“เรามองว่า Sentiment ลบในภาพรวมมีแนวโน้มดำเนินต่อไปจนกว่าจะเห็นแนวโน้มการเจรจาผ่อนผันข้อบังคับระหว่างประเทศมากขึ้น ด้าน Sector ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มองว่าเผชิญแรงกดดันหนักจะเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศสูงที่เสี่ยงต่อการถูกโต้ตอบกลับ อาทิ วัสดุอุตสาหกรรม, เทคโนโลยี และ การสื่อสาร” นายคมศร กล่าว


สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย จากอัตราภาษีตอบโต้ที่สหรัฐฯ ประกาศกับไทยที่ 36% TISCO ESU ประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมากที่ราว 1.35 จุด จากปัจจุบันที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.8% เหลือเพียง 1.45% โดยยังไม่นับรวมผลของมาตรการที่รัฐบาลจำเป็นต้องบังคับใช้เพื่อประโยชน์ต่อการเจรจาต่อรอง เช่น 1. การลดการกีดกันทางการค้า (Non-tariff Barrier) และเปิดเสรีให้กับสินค้าเกษตรสหรัฐฯ มากขึ้น 2. การเพิ่มโควต้านำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ของหลายประเทศ อาจส่งผลให้สินค้าไทยที่คล้ายคลึงกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรถูกลดการนำเข้าจากตลาดในต่างประเทศลง เป็นต้น


นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบทางอ้อมที่อาจเกิดขึ้น และส่งผลกับเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า อาทิ แนวโน้มการลงทุนจากต่างชาติที่อาจลดลง เนื่องจากอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ทำให้การตัดสินใจย้ายฐานการผลิตทำได้ยากขึ้น และประเด็นสุดท้าย มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้ง รวม 0.50% ในการประชุมรอบที่ 2/2025 ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ 1 ครั้ง และอีก 1 ครั้งในช่วงครึ่งหลัง ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอาจลดลงเหลือ 1.50% ภายในสิ้นปีนี้


ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจจีน จากอัตราภาษี Reciprocal Tariff ที่ 34% บวกอัตราภาษีเดิมที่ 20% ทำให้จีนต้องเผชิญอัตราภาษีรวมกว่า 54% ซึ่งคาดว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจจีนราว 1.5 - 2.0 จุด ทั้งจากผลกระทบทางตรงผ่านช่องทางการส่งออก และผลกระทบทางอ้อมผ่านความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น ตลอดจนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภคที่มีแนวโน้มลดลง และอาจจะกระทบต่อการลงทุนในประเทศของภาคธุรกิจในระยะต่อไป


อย่างไรก็ตาม คาดว่ารัฐบาลจีนจะมีมาตรการบรรเทาผลกระทบผ่านการใช้นโยบายการคลังและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น รวมถึงอาจมีมาตรการตอบโต้ต่อสหรัฐฯ ผ่านทั้งมาตรการด้านภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff measures) เช่น การควบคุมการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังสหรัฐฯ การดำเนินการกับบริษัทสหรัฐฯ หรือการจำกัดการลงทุนของบริษัทจีนในสหรัฐฯ เป็นต้น


แนะทยอยซื้อตราสารหนี้โลก Global REITs หุ้นอินเดีย ญี่ปุ่น จีน และไทย

นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ Head of Wealth Advisory ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงกลยุทธ์การลงทุนหลังทรัมป์ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้า ว่า จากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ธนาคารทิสโก้คาดว่าหลังจากนี้ธนาคารกลางทั่วโลกมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก เพื่อรองรับกับเศรษฐกิจโดยรวมที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง จึงส่งผลดีต่อราคาตราสารหนี้โลก และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โลก (Global REITs) ให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้


นอกจากนี้ สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงสูงได้ธนาคารทิสโก้แนะนำให้ทยอยซื้อ หุ้นประเทศอินเดีย หุ้นประเทศญี่ปุ่น และหุ้นจีน เพราะมูลค่าหุ้น (Valuation) เริ่มน่าสนใจ เศรษฐกิจเติบโตจากการบริโภคในประเทศที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง และมีสัดส่วนการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐฯ ต่ำ เมื่อเทียบกับ GDP ของแต่ละประเทศ


“ปัจจุบันประเทศอินเดียมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ อยู่ที่ 2.4% ของ GDP ส่วนญี่ปุ่นมีสัดส่วนส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ อยู่ที่ 3.6% ของ GDP และประเทศจีนมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ เพียง 2% ของ GDP ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับประเทศแคนนาดาที่มีสัดส่วนส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่ 19.4% ของ GDP และเม็กซิโก้มีสัดส่วนส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่ 25.6% ของ GDP นอกจากนี้ ในด้านราคาหุ้นอินเดีย ญี่ปุ่น และจีนยังน่าสนใจ โดยปัจจุบันหุ้นอินเดียมี Forward P/E อยู่ที่ 19.3 เท่า ต่ำกว่าเฉลี่ย 5 ปีที่อยู่ที่อยู่ในระดับ 20.20 เท่า หุ้นญี่ปุ่นมี Forward P/E อยู่ที่ 17.5 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ที่อยู่ในระดับ 19.1 เท่า และหุ้นจีนมี Forward P/E อยู่ที่ 11.2 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ที่อยู่ในระดับ 11.5 เท่า” นายณัฐกฤติกล่าว


ดังนั้น ธนาคารทิสโก้จึงแนะนำให้ลูกค้าใช้จังหวะที่หุ้นย่อตัวลงในช่วงนี้ ทยอยลงทุนในตราสารหนี้โลก ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โลก (Global REITs) หุ้นตลาดหุ้นอินเดีย ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ตลาดหุ้นจีน นอกจากนี้ ยังเป็นจังหวะทยอยสะสมหุ้นไทยเพิ่ม เพราะมูลค่าหุ้นในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลังและลงมาอยู่ในระดับเทียบเท่าช่วงที่เกิดวิกฤติ COVID- 19 แล้ว โดยปัจจุบัน Forward P/E หุ้นไทยอยู่ที่ 12.3 เท่า ขณะที่ช่วง COVID –19 อยู่ที่ 12.9 เท่า