MENU

ช.การช่าง เคาะดอกเบี้ยหุ้นกู้ 4 ชุด 3.30 – 4.00% เปิดขาย 18 - 22 เม.ย.นี้

 4 เม.ย. 2568 00:00

ช.การช่าง เคาะดอกเบี้ยหุ้นกู้จำนวน 4 ชุด อายุ 3 - 10 ปี ระหว่าง 3.30 – 4.00% ต่อปี เสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป 18 - 22 เม.ย. 68 เผยกระแสตอบรับดี เพราะผู้ลงทุนเชื่อมั่นในความมั่นคงและการเติบโตที่ต่อเนื่องจากงานในมือที่รอรับรู้รายได้กว่า 2.1 แสนล้านบาท อันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ระดับ A- แนวโน้ม “Stable” นับเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสอดคล้องกับภาวะการลงทุนโดยรวมที่มีความผันผวน


นายณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK  เปิดเผยว่า ช.การช่าง กำหนดผลตอบแทนหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ จำนวน4 ชุด ที่จะเสนอขายให้แก่ประชาชนเป็นการทั่วไปในระหว่างวันที่ 18 และ 21 - 22 เมษายน 2568 ประกอบด้วย หุ้นกุ้ชุดที่ 1 อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.30% ต่อปี, หุ้นกู้ชุดที่ 2 อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.60% ต่อปี, หุ้นกู้ชุดที่ 3 อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.80% ต่อปี และหุ้นกู้ชุดที่ 4 อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.00% ต่อปี


ทั้งนี้ หุ้นกู้ชุดที่ 2 – 4 มีเงื่อนไขให้ผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ทั้งจำนวน หรือบางส่วนก่อนครบกำหนดไถ่ถอน ตามเงื่อนไขที่ระบุในข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ โดยบริษัทฯ กำหนดจ่ายดอกเบี้ยคงที่ทุก 6 เดือน เปิดให้จองซื้อผ่านสถาบันการเงิน 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)


สำหรับอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ ช.การช่าง จัดอันดับโดยบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 อยู่ที่ระดับ “A-” แนวโน้ม “Stable” เช่นเดียวกับอันดับเครดิตองค์กร ซึ่งสะท้อนสถานะของบริษัทฯ ในการเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างชั้นนำในประเทศไทย ที่มีความสามารถในการรับงานโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่และโครงการที่มีความซับซ้อน และมีความยืดหยุ่นทางการเงินที่เกิดจากการลงทุนเชิงกลยุทธ์ รวมถึงโอกาสในการเติบโตจากมูลค่างานในมือ (Backlog) ที่แข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นปี 2567 บริษัทฯ มีมูลค่างานในมือที่รอรับรู้รายได้ จำนวน 210,153 ล้านบาท ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดใหม่ ที่จะทยอยรับรู้เป็นรายได้อย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีข้างหน้า


ด้านสถาบันการเงินชั้นนำในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ ช.การช่าง กล่าวว่า หลังจากที่มีข่าวการออกหุ้นกู้ 4 ชุดใหม่ของ ช.การช่าง ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน โดยมีการติดต่อสอบถามมาทางผู้จัดการการจัดจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาจากความเชื่อมั่นในบริษัท ช.การช่าง ในด้านของความมั่นคง ความแข็งแกร่งของโครงสร้างทางการเงิน โครงสร้างทางธุรกิจ และมูลค่างานในมือที่รอรับรู้รายได้ที่สูง และยังมีงานใหม่ๆ ที่เป็นสัญญาขนาดใหญ่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง หุ้นกู้ ช.การช่าง จึงตอบโจทย์ผู้ลงทุนที่ต้องการล็อคผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ ในช่วงเวลาที่สถานการณ์ลงทุนโดยรวมมีความผันผวนสูง


ปัจจุบัน บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจหลัก 2 กลุ่ม ได้แก่ (1) ธุรกิจการก่อสร้าง ทั้งระบบขนส่งมวลชน ท่าอากาศยาน ถนน ทางด่วน รถไฟทางคู่ สะพาน ระบบพลังงาน ระบบน้ำและท่าเรือ และ (2) ธุรกิจการพัฒนาโครงการสาธารณูปโภค ด้วยการเป็นผู้ลงทุนพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคด้านต่างๆ โดยบริษัทฯ ถือหุ้น 37.18% ในบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการทางพิเศษและระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้า รวมถึงการพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบทางพิเศษและรถไฟฟ้า, ถือหุ้น 19.40% ในบริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) หรือ TTW ผู้ผลิตจำหน่ายน้ำประปาและบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร และถือหุ้น 30.00% ในบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP ผู้ประกอบธุรกิจหลักในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าแก่ กฟผ. และ กฟภ. (ข้อมูลโครงสร้างการถือหุ้นของกลุ่มบริษัท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567)


ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 ช.การช่าง ได้ลงนามในสัญญาการจ้างงานที่มีมูลค่าสูงหลายโครงการ เช่น ได้ลงนามเป็นผู้รับจ้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มกับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) รวมมูลค่าโครงการประมาณ 109,216 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นสัญญางานออกแบบและก่อสร้างงานโยธา (Civil Works Contract) มูลค่าโครงการ 82,502 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และสัญญาจ้างงานจัดหาระบบรถไฟฟ้า (M&E Works Contract) มูลค่าโครงการ 26,714 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) อีกทั้งได้ลงนามเป็นผู้รับจ้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน กับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในสัญญาจ้างจัดหาขบวนรถไฟฟ้าเพิ่มเติมและปรับปรุงระบบรถไฟฟ้า มีมูลค่าโครงการ 6,800 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)


นอกจากนี้ ยังมีโครงการใหม่ที่บริษัทฯ คาดว่าจะได้รับการเซ็นสัญญางานก่อสร้างในปี 2568 อีกหลายโครงการ โดยได้แรงหนุนจากเร่งรัดการประมูลงานและการเซ็นสัญญางานก่อสร้างในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของภาครัฐ เช่น งานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง งานรถไฟทางคู่ และงานขยายสนามบิน เป็นต้น