
บล.ดาโอ ประเมินเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอตัว เงินเฟ้อพุ่ง แนะลงทุนแบบระวัง-เตรียมพร้อมปรับกลยุทธ์
9 พ.ค. 2568 00:00บล.ดาโอ เผย เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงชะลอตัว-เงินเฟ้อสูง แม้นโยบายภาษีศุลกรระหว่างสหรัฐฯกับประเทศต่างๆ มีการเจรจากัน แนะ 1 - 3 เดือนข้างหน้า เน้นลงทุนเชิงรุกแบบระมัดระวัง เน้นเลือกสินทรัพย์เสี่ยงที่มีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และติดตามข่าวสารใกล้ชิดเพื่อพร้อมเปลี่ยนกลยุทธ์ได้ทัน
นางสาวธนันต์พร จรรย์โกมล ผู้อานวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะจีน เป็นปัจจัยกดดันบรรยากาศการลงทุนทั่วโลกในช่วงต้นปี 2025 แต่บรรยากาศเริ่มผ่อนคลายมากขึ้นในระยะหลัง โดยนักลงทุนมีมุมมองเชิงบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ซึ่งสะท้อนจาก Fear & Greed Index ที่หนุนโดยความคืบหน้าในการคลี่คลายข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน รวมถึงตัวเลข GDP ไตรมาสแรกของจีนและยุโรปที่ออกมาดีกว่าคาด
อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจ ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อที่จากแรงกดดันด้านภาษีนำเข้าในสหรัฐฯ ทำให้ความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจชะลอควบคู่กับเงินเฟ้อสูง (stagflation) ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในเชิงกลยุทธ์การลงทุนระยะกลาง
สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาส 1/2025 หดตัว -0.3% QoQ โดยเป็นผลจากการนำเข้าสินค้าที่พุ่งขึ้นถึง +50.1% จากพฤติกรรม “front-loading” ของภาคธุรกิจที่เร่งสั่งซื้อล่วงหน้าก่อนการขึ้นภาษีนำเข้า ตัวเลข GDP จึงมองว่าอ่อนแอชั่วคราว ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังแข็งแกร่ง โดยการใช้จ่ายภาคเอกชนโต +3.0% และการลงทุนภาคธุรกิจโต +9.8%
นอกจากนี้ การบริโภคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง และตลาดแรงงานยังคงตึงตัว แม้จะเริ่มผ่อนคลายลงบางส่วน สะท้อนกำลังซื้อที่ไม่เปราะบาง เราจึงยังคงมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และแนะนำให้น้ำหนักหุ้นสหรัฐฯ มากกว่าตลาด (Overweight) โดยเฉพาะในกลุ่มที่อิงกับการบริโภคภายในประเทศและเทคโนโลยี
ด้านยุโรป เศรษฐกิจยูโรโซน เติบโตดีกว่าคาด โดย GDP ไตรมาสแรกขยายตัว +0.4% QoQ จากแรงหนุนของอุปสงค์ในประเทศและมาตรการกระตุ้นภาครัฐ โดยเฉพาะงบประมาณกลาโหมและโครงสร้างพื้นฐานในเยอรมนี แนวโน้มกำไรตลาดหุ้นยุโรปยังเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง โดย EPS คาดว่าจะได้แรงเสริมเพิ่มเติมจากมาตรการรัฐ ดัชนี PMI ภาคการผลิตของยูโรโซนยังอยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ถึงการขยายตัวของอุตสาหกรรม แม้จะมีความเสี่ยงภายนอกอยู่บ้างก็ตาม เราจึงมีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นยุโรปและแนะนำ Overweight ต่อไป โดยเน้นหุ้นในกลุ่มที่ได้อานิสงส์จากการใช้จ่ายภาครัฐและฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม
ขณะที่จีน แม้เผชิญแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ แต่รัฐบาลจีนแสดงจุดยืนเชิงรุก โดยเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการอัดฉีดสภาพคล่องและการเร่งออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อพยุงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนด้านนโยบายภาครัฐยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจกดดันภาคการผลิต โดยเฉพาะช่วงกลางปี ดัชนี PMI ภาคการผลิตแม้ลดลงเล็กน้อยแต่ยังอยู่เหนือระดับ 50 จึงสะท้อนภาวะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เราแนะนำให้น้ำหนักหุ้นจีนมากกว่าตลาด (Overweight) โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจจีนยังสามารถขยายตัวได้ในกรอบตัวเลขที่น่าพอใจ และรัฐบาลมีศักยภาพในการดูแลเสถียรภาพเชิงนโยบายและตลาดทุนในระยะใกล้
กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ อย่างอินเดีย และเวียดนามจะยังคงมีพื้นฐานการเติบโตในระยะยาว แต่ความไม่แน่นอนเชิงนโยบาย และข้อจำกัดด้านโครงสร้างภายในประเทศกลับเริ่มกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวอย่างมั่นคงในระยะสั้น
อินเดีย ยังคงมีอัตราการเติบโตของ GDP ที่สูงที่สุดในกลุ่ม G20 และได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคภายในประเทศและการลงทุนภาครัฐ อย่างไรก็ดี ความตึงเครียดเชิงภูมิรัฐศาสตร์และผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ยังคงจำกัดโอกาสของภาคส่งออก ขณะเดียวกัน ค่าเงินรูปีและความเสี่ยงจากเงินทุนไหลออกยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อเสถียรภาพด้านนโยบายการเงินในประเทศ
เวียดนาม แม้จะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพเชิงโครงสร้างสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ต้องเผชิญความเปราะบางด้านนโยบายภายใน ระบบการเงินที่ยังไม่โปร่งใสเต็มที่ และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีหนี้สะสมสูง การฟื้นตัวของภาคส่งออกยังถูกจำกัดจากความผันผวนของคำสั่งซื้อโลก และความไม่แน่นอนทางการค้ากับสหรัฐฯ ที่ยังมีน้ำหนักในตลาดทุน
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเชิงเปรียบเทียบ ตลาดพัฒนาแล้วกลับมองว่ามี “Risk-Adjusted Return” ที่ดีกว่าในหลายมิติ ทั้งในแง่ของเสถียรภาพเชิงนโยบาย ความลึกของตลาดทุน และแนวโน้มการเติบโตของกำไรบริษัท โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ซึ่งยังได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภาคครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงยุโรปที่เริ่มฟื้นตัวจากภาคอุตสาหกรรมและการใช้จ่ายภาครัฐเชิงโครงสร้าง
“แม้ตลาดเกิดใหม่ จะยังมีศักยภาพในระยะยาว นักลงทุนควรปรับพอร์ตในระยะสั้นไปสู่ตลาดพัฒนาแล้ว เป็นหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งมีเสถียรภาพและการฟื้นตัวที่ชัดเจนกว่า ภายใต้เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อเชิงโครงสร้าง การเมืองโลก และการค้า การให้น้ำหนัก “Overweight” ตลาดพัฒนาแล้ว และคงน้ำหนัก “Neutral ถึงUnderweight” ตลาดเกิดใหม่ เชื่อว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสมต่อการบริหารความเสี่ยงและผลตอบแทนอย่างสมดุลในช่วง 1–3 เดือนข้างหน้า” นางสาวธนันต์พร กล่าว
สำหรับแนวโน้มราคาน้ำมัน ตลาดน้ำมันดิบในช่วงไตรมาสที่ผ่านมาอยู่ในภาวะอ่อนตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ราคาน้ำมันดิบ WTI ล่าสุดซื้อขายที่ประมาณ $58 - 60 ต่อบาร์เรล ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2025 จากระดับประมาณ $75 เมื่อสามเดือนก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากแนวโน้มอุปสงค์น้ำมันโลกที่ชะลอตัวลง ขณะที่ฝั่งอุปทานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากนโยบายภาครัฐบางประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลทรัมป์ที่สนับสนุนพลังงานฟอสซิลอย่างเต็มที่ รัฐบาลมีแผนเร่งเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในประเทศ ซึ่งจะทำให้อุปทานน้ำมันในตลาดสูงขึ้นและอาจกดดันราคาน้ำมันในระยะยาว จากสมดุลอุปสงค์-อุปทานที่เปลี่ยนแปลงนี้ เราจึงปรับมุมมองเป็น Slightly underweight ต่อการลงทุนในน้ำมันช่วงสั้น
ส่วนราคาทองคำยังคงมีแนวโน้มเชิงบวกในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2025 จาก 3 ปัจจัยหลัก ที่ช่วยหนุนราคาทองคำ ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ มุมมองนโยบาย และพฤติกรรมของนักลงทุนทั่วโลก โดยปัจจัยแรกจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากแรงกดดันด้านการค้า โดยเฉพาะการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งกระตุ้นให้นักลงทุนหันมาถือทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ปัจจัยที่สองมาจากแนวโน้มการกระจายความเสี่ยงของธนาคารกลางทั่วโลก โดยเพิ่มสัดส่วนทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศ และยังมีแรงหนุนจากเงินทุนไหลเข้ากองทุน ETF ทองคำอย่างต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยสุดท้าย สะท้อนถึงความกังวลต่อเสถียรภาพของค่าเงินหลัก ทั้งดอลลาร์และหยวน จากภาระหนี้ภาครัฐและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง ทำให้ทองคำถูกมองเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินเสื่อมค่าในระยะยาว เชื่อว่าทองคำยังคงเป็นสินทรัพย์ที่มีบทบาทสำคัญต่อการป้องกันความเสี่ยงในระยะสั้นถึงกลาง
“โดยภาพรวมในช่วง 1 - 3 เดือนข้างหน้า บล.ดาโอ ยังคงเน้นกลยุทธ์เชิงรุกแบบระมัดระวัง (Cautiously Optimistic) โดยลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่มีศักยภาพการเติบโตภายใต้เงื่อนไขพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และป้องกันความเสี่ยงของพอร์ตด้วยสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ การติดตามข่าวสารและตัวเลขเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดยังเป็นสิ่งจำเป็น เพราะหากมีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย เช่น การพลิกท่าทีสงครามการค้า ความขัดแย้งจากHard war หรือการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง เป็นต้น จะได้ปรับกลยุทธ์การลงทุนได้ทันท่วงทีเพื่อรักษาผลตอบแทนและจำกัดความเสี่ยงในสภาวะตลาดที่ไม่แน่นอนต่อไป” นางสาวธนันต์พร กล่าว
ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทย นายมงคล พ่วงเภตรา รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.ดาโอ มองว่า ตลาดไทยมีกระแสเงินไหลเข้าตามภูมิภาคเอเชีย หลังการเจรจาการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆ มีความคืบหน้าไปมาก และดูผ่อนคลายมากขึ้น เป็นเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาในช่วงต้นเดือน พ.ค. ขณะเดียวกันมีปัจจัยสำคัญ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนและการ ทยอยรายงานกำไรของบริษัทจดทะเบียน ส่วนใหญ่ที่รายงานไปแล้ว กำไรออกมาดี เราคาดกำไรตลาดหุ้นไทย ไตรมาสที่ 1/2568 จะจบลงที่ 2.41 แสนลบ. ลดลง 10% YoY แต่ สูงขึ้น 37% QoQ
โดยรวมยังมองดัชนีตลาดหุ้นไทย จะสามารถยืนเหนือระดับ 1200 จุดได้ในเดือนพ.ค. โดยเป้าหมายเรามองไว้ที่โซน 1200 - 1250 จุด กลยุทธ์ลงทุน แนะนำเลือกขายทำกำไรหุ้นที่ราคาขึ้นมามาก เพื่อสลับเปลี่ยนลงทุนในหุ้นที่ราคายังไม่ปรับตัวขึ้นมาก (Laggard play) โดยหุ้นที่คาดว่าเป็นเป้าหมายนักลงทุนได้แก่ AMATA, NTL, STA, BDMS, ITC, TOP, HANA , BGRIM และหุ้นกลุ่มที่ได้ปรัโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน คือ กลุ่มปิโตรเคมี และ อีเล็คทรอนิคส์ หุ้นน่าสนใจของ 2 กลุ่มนี้ได้แก่ SCGP, IVL, PTTGC, CCET, DELTA