
ยูโอบี แนะเอกชนปรับตัวรับมือภาษีสหรัฐฯ - CIMBT ห่วงจีดีพีไทยปีนี้โตไม่ถึง 1.8%
8 ก.ค. 2568 00:00ยูโอบี แนะเอกชนปรับตัวับมือมาตรการตอบโต้ภาษีสหรัฐฯ แนะไทยเร่งเจรจาอย่างเต็มที่เพื่อให้อัตราภาษีอยู่ระดับเดียวกับเวียดนามที่ 20% ขณะที่ "ซีไอเอ็มบี ไทย" ห่วงเศรษฐกิจไทยปี 68 โตไม่ถึง 1.8% พร้อมแนะไทยเจรจาอย่างมียุทธศาสตร์ แทนการเจรจาแบบถอยสุดซอย
นายสถิตย์ แถลงสัตยา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ และธุรกิจสัมพันธ์ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ส่งจดหมายในการเรื่องเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศไทยที่ระดับ 36% นั้น อัตราภาษีดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอนจนกว่าถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2538 ดังนั้น ในช่วงระยะเวลานี้ จึงอยากเห็นคณะเจรจาในเรื่องดังกล่าวของไทยพยายามอย่างต็มที่ เพื่อให้ได้รับอัตราภาษีในระดับเดียวกับเวียดนามที่ 20% ซึ่งมองไทยเองจุดได้เปรียบเช่นกันโดยความสัมพันธ์ระหว่างไทย - สหรัฐฯ ที่มีความสัมพันธ์กันมากว่า 200 ปี พร้อมกันนั้น ภาคเอกชนเองก็ต้องมีการปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์การตั้งราคา,การบริหารจัดการด้านต้นทุน และการหาพันธมิตร
"เวียดนามแทบจะไม่มีทางเลือกที่จะให้ 0% กับสหรัฐฯเพราะ 40% ของการส่งออกเวียดนามไปที่สหรัฐฯ และ 80% ของการส่งออกดังกล่าวมาจากบริษัทต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม ขณะที่ไทยเองก็มีความได้เปรียบในเรื่องของความสัมพันธ์ที่ยาวนาน โครงสร้างสินค้า ซึ่งแม้ว่าอัตราที่ระดับ 20% จะเป็นไปได้ยาก แต่ระดับที่ 25% ก็ถือว่ารับได้"
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการก็ต้องมีการปรับตัวไปสู่โลกการค้าใหม่ โดยยูโอบีมองถึงโอกาสใน 3 ด้านด้วยกัน -New S Curve Industries ,-Low carbon economy and Sustainability และ -High Value-added Service ซึ่งธนาคารแนะนำในกลุ่ม Wealthness และการท่องเที่ยว ซึ่งไทยเองก็มีความโดดเด่นในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว
ขณะเดียวกัน ควรให้ความสำคัญในด้านการดึงดูดลงทุนซึ่งไทยมีความได้เปรียบประเทศในภูมิภาคทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ดี และภูมิศาสตร์ ดังนั้น ทางภาครัฐควรมีการผ่อนคลายหรือสร้างความสะดวกในการทำธุรกิจ (Doing Business) เพื่อดึงดูดการลงทุนหนุนการเติบโตของจีดีพีไทย โดยในปีนี้ยูโอบีมองจีดีพีไทยเติบโต 2% และมองว่าจีดีพีไทยน่าจะโตต่ำกว่า 3%ไปอีกระยะหนึ่งถึงปี 2573
"อมรเทพ" แนะเจรจาอย่างมียุทธศาสตร์ แทนถอยสุดซอย
นายอมรเทพ จาวะลาผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงรุนแรงจากภาษีสหรัฐฯ จากกรณีปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตรา 36% ทำให้ไทยเสียเปรียบเวียดนาม ที่ถูกเก็บภาษีเพียง 20% โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับลดประมาณการ GDP ปี 2568 ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ที่ 1.8%
โดยภาคส่งออกและการผลิต จะได้รับผลกระทบโดยตรง สำหรับสินค้าหลักที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ชิ้นส่วนโทรศัพท์ HDD หม้อแปลงไฟฟ้า และเครื่องพิมพ์ ซึ่งอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีภาษีต่ำกว่า เช่น เวียดนาม แต่ยังมีสินค้าอื่นที่แม้โดนภาษีสูง แต่ไทยยังพอแข่งขันได้ เช่น ยางรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ อาหารสัตว์และข้าว
ขณะที่ยังมีผลกระทบให้การนำเข้า และการลงทุนชะลอตัว เนื่องจากความไม่แน่นอน ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบลดลง กระทบต่อโลจิสติกส์และคลังสินค้า ขณะที่ FDI อาจย้ายไปประเทศอื่นในอาเซียน ส่งผลต่อการเติบโตระยะยาวของไทย
นายอมรเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยต้องเร่งปรับนโยบายเชิงรุก ควรเน้นการส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มในประเทศ ลดอุปสรรคการลงทุน และเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ อย่างมียุทธศาสตร์ พร้อมเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งลดการผูกขาดในประเทศ ขณะเดียวกัน เราต้องลดการส่งออกศูนย์เหรียญ หรือเป็นทางผ่านที่ไทยได้ประโยชน์น้อย
"ไทยไม่จำเป็นที่ต้องยอมสหรัฐฯ ทุกอย่าง ขณะเดียวกัน ไทยต้องเร่งหาตลาดใหม่ที่กระทบน้อย เช่น ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และยุโรป รวมถึงการเร่งเจรจา FTA กับยุโรป และความตกลงแบบครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) รวมทั้งหาทางเร่งตลาดจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)โดยใช้อาเซียนเป็นที่พึ่งในการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ และไม่เชื่อว่าไทยต้องทำแบบเวียดนามที่ลดภาษี 0% ผมเชื่อในการเจรจาระยะยาว แม้ไม่ใช่ดีลที่ดีที่สุด แม้ไม่ใช่ดีลที่ดีที่สุด ไม่ถูกใจทุกคน แต่ยังเปิดประตูการต่อรองได้ และผมเชื่อในการปรับตัวของผู้ประกอบการ"