
เงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.38 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” หลังทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าไทย
3 เม.ย. 2568 00:00เงินบาท "อ่อนค่าลงหนัก" เปิดเช้านี้ 34.38 บาท/ดอลลาร์ หลังสหรัฐฯ ประกาศมาตรการภาษีนำเข้ารอบใหม่ รุนแรงกว่าที่ตลาดประเมินไว้ โดยไทยโดนเรียกเก็บในอัตราสูงถึง 36% กรุงไทย มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง จะอยู่ที่ระดับ 34.30-34.60 บาท/ดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.38 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 34.16 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงหนัก (แกว่งตัวในกรอบ 34.07 - 34.45 บาทต่อดอลลาร์) หลังรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศมาตรการภาษีนำเข้ารอบใหม่ โดยเฉพาะในส่วนของมาตรการภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ที่สินค้านำเข้าจากประเทศไทยจะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงถึง 36% (ลดลงจากที่ทางการสหรัฐฯ ประเมินไว้ 72%)
การประกาศมาตรการภาษีนำเข้าดังกล่าวนั้น สูงกว่าที่ตลาดได้ประเมินไว้พอสมควร กดดันให้บรรยากาศในตลาดการเงินอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หลังการประกาศดังกล่าว อย่างไรก็ดี เงินบาทยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างหลังราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกันเงินดอลลาร์ก็ทยอยอ่อนค่าลง หลังผู้เล่นในตลาดต่างกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากผลกระทบของนโยบายการค้าล่าสุดของสหรัฐฯ สะท้อนผ่านมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า เฟดมีโอกาสราว 39% ที่จะลดดอกเบี้ยได้ถึง 4 ครั้ง ในปีนี้
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ก่อนที่จะรับรู้มาตรการภาษีนำเข้ารอบใหม่ของรัฐบาลสหรัฐฯ “Liberation Day” ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.67% อย่างไรก็ดี บรรยากาศในตลาดการเงินพลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงชัดเจน หลังมาตรการภาษีนำเข้าล่าสุดของสหรัฐฯ นั้นรุนแรงกว่าที่ตลาดประเมินไว้ ดังจะเห็นได้จากสัญญาฟิวเจอร์สดัชนี S&P500 ที่ล่าสุด ดิ่งลง -3%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลง -0.50% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งจะมีการประกาศมาตรการภาษีนำเข้ารอบใหม่ ซึ่งส่งผลให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างขายทำกำไรบรรดาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วงก่อนหน้า อย่างกลุ่มอุตสาหกรรมการบินและทหาร เช่น Airbus -3.2%
ในส่วนตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 4.06% หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการภาษีนำเข้ารอบใหม่ที่รุนแรงกว่าคาด กดดันให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และประเมินว่า เฟดมีโอกาสราว 39% ที่จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยถึง 4 ครั้ง ในปีนี้
ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เสี่ยงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ซึ่งต้องรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะข้อมูลตลาดแรงงาน อย่างใกล้ชิด และแม้ว่า เราจะมองว่า บอนด์ระยะยาวของสหรัฐฯ ยังมีความน่าสนใจอยู่ แต่เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้นปรับตัวลงเร็วและลึกเกินไป ทำให้เราขอเน้นย้ำว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอจังหวะทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาว ในช่วงที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น (เน้นรอ Buy on Dip)
ด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง แม้ว่าจะแข็งค่าขึ้นในช่วงสั้น หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการภาษีนำเข้าที่รุนแรงกว่าคาด แต่เงินดอลลาร์ก็กลับมาอ่อนค่าลง ตามการปรับตัวลงหนักของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางความกังวลผลกระทบของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ปรับตัวลดลงสู่โซน 103.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.1 - 104.2 จุด)
ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางความกังวลผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ล่าสุด ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย. 2025) ปรับตัวขึ้นสู่โซน 3,180 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้ง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) ในเดือนมีนาคม และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะหลังตลาดได้รับรู้มาตรการภาษีนำเข้าล่าสุดของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่รุนแรงกว่าคาดพอสมควร
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ECB และรายงานการประชุม ECB ล่าสุด
และในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานดัชนี Caixin PMI ภาคการบริการ ในเดือนมีนาคม ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 51.5 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด สะท้อนถึง ภาวะขยายตัว)
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทมีแนวโน้มทยอยอ่อนค่าลงได้ และจากการประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend - Following เงินบาท (USDTHB) ได้กลับเข้าสู่แนวโน้มอ่อนค่าลงอีกครั้ง โดยเงินบาทเสี่ยงที่จะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม จากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ที่อาจทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ กลับมาขายสินทรัพย์ไทย อย่าง หุ้นไทยเพิ่มเติม หลังมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ล่าสุด อย่าง มาตรการภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariff) นั้นมีความรุนแรงมากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ (สินค้านำเข้าจากไทยจะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงถึง 36% ซึ่งสูงกว่าที่บรรดานักวิเคราะห์ประเมินไว้ในโซน 20% - 25%) อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทดังกล่าว อาจถูกชะลอลงบ้าง ตามแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วนอย่างฝั่งผู้ส่งออก
นอกจากนี้ ความกังวลผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ก็กดดันให้เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง แทนที่จะแข็งค่าขึ้นชัดเจน หลังผู้เล่นในตลาดต่างลดความเชื่อมั่นในธีม US Exceptionalism อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินดอลลาร์นั้นเสี่ยงเผชิญความผันผวนแบบ Two-Way Volatility ซึ่งจะขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ว่าจะออกมาอย่างไร และทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมามีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้หรือไม่
เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในคืนนี้ ซึ่งจะเริ่มจากยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ในช่วงราว 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย จนถึงรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการที่จะทยอยรับรู้ในช่วง 21.00 น. โดยสถิติย้อนหลัง 1 ปี สะท้อนว่า เงินบาท (USDTHB) อาจมีกรอบการแกว่งตัวระดับ +/- 1 SD ได้ราวถึง +/-0.20% หลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว 30 นาที
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.30-34.60 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ)