MENU

แอนิเมชันไทย มีดีกว่าที่คิด

 4 ต.ค. 2566 00:00

“นักรบมนตรา : ตำนานแปดดวงจันทร์” แอนิเมชันเรื่องล่าสุดของคนไทย ที่นำวรรณคดีอย่างรามเกียรติ์ มาตีความใหม่ ในสเกลสงครามระดับจักรวาล ผลงานการสร้างของ RiFF Studio สตูดิโอที่มีประสบการณ์ในการทำคอมพิวเตอร์กราฟฟิกมาอย่างยาวนาน มีผลงานทั้งเบื้องหลังซีจีในหนังไทยหลายเรื่อง และยังเคยร่วมทำแอนิเมชันกับต่างประเทศมาแล้ว

ซึ่งผลงานล่าสุดอย่างนักรบมนตรานั้น ถือเป็นแอนิเมชันขนาดยาวเรื่องแรกของสตูดิโอ ที่ใช้เวลาในการพัฒนาโปรเจกต์มาตั้งแต่ปี 2017 และใช้ทุนสร้างสูงถึง 200 ล้านบาท แต่ขึ้นชื่อว่าแอนิเมชันฝีมือไทย ก็ทำให้หลายคนอดเป็นห่วงไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาแอนิเมชันไทยก็ล้วนมีปัญหา และไม่ประสบความสำเร็จตามที่หวังสักเรื่อง แต่วันนี้เราจะไม่ได้มาบ่นหรือจับผิดแอนิเมชันเหล่านั้น แต่เราจะมาดูกันว่า แอนิเมชันไทยเองก็อาจมีดีกว่าที่หลายคนคิด


1. ผลักดัน ซอฟต์ พาวเวอร์


อาจเป็นสิ่งที่หลายคนได้ยินจนเบื่อ เมื่อพูดถึง ซอฟต์ พาวเวอร์ ของเมืองไทย แต่ก็ต้องยอมรับเลยว่าแอนิเมชันไทย ก็ถือเป็นสื่อหนึ่งที่สามารถเผยแพร่วัฒนธรรมของเราไปให้กับชาวต่างชาติได้รู้จักได้ดี ทั้งเรื่องมวยไทยใน9ศาสตรา ,วรรณกรรมไทยในเรื่องยักษ์ ,ตำนานพื้นบ้านในเรื่องนาค หรือประวัติศาสตร์ไทยอย่างก้านกล้วย เป็นต้น และแม้แอนิเมชันแต่ละเรื่อง จะไม่ได้โด่งดังระดับหนังแอ็คชั่นในอดีต อย่างองค์บากหรือต้มยำกุ้ง แต่แอนิเมชันก็ถือเป็นทางเลือกในการเข้าถึงสื่อที่ย่อยง่าย ไม่มีพิษมีภัย และเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ดีกว่าสื่ออื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่เหล่าผู้สร้าง เลือกจะหยิบเรื่องราวไทย ๆ มาเล่าบ่อย ๆ เพราะมันสามารถขายต่างชาติได้ง่ายกว่านั่นเอง


2. สร้างความแปลกใหม่ให้กับหนังไทย


ปัจจุบันไม่เพียงแต่แอนิเมชันไทยเท่านั้นที่กำลังตกต่ำ แต่ยังรวมไปถึงวงการหนังไทยโดยรวม ที่ขาดความสดใหม่และความคิดสร้างสรรค์ จนผู้คนมักบ่นอยู่เสมอว่าหนังไทยมีแต่แนวรัก ผี และตลก แต่ทุก ๆ ครั้งที่มีแอนิเมชันไทยเรื่องใหม่ ๆ เตรียมเข้าฉาย มันก็จะสามารถสร้างกระแสให้ผู้คนสนใจได้เสมอ เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าผู้คนก็พร้อมจะโอบรับ และสนับสนุนแอนิเมชันฝีมือคนไทย เพราะแอนิเมชันเหล่านี้ล้วนมีความพยายามที่จะฉีกแนว หรือตีความเรื่องราวใหม่ ๆ ขึ้นมา แถมยังมีค่าโปรดักชั่นที่เทียบเท่าหนังสงครามย้อนยุค ที่เราไม่ค่อยได้เห็นแล้วในปัจจุบัน เพียงแต่แอนิเมชันไทยหลาย ๆ เรื่อง อาจยังขาดหัวใจหรือการสร้างอารมณ์ร่วมที่ดีพอที่จะทำให้ผู้ชมอินได้


3. ส่งเสริมการเรียนรู้ หรือสร้างแรงบันดาลใจ


ภาพยนตร์หรือแอนิเมชันนับเป็นสื่อการสอนชั้นยอด ที่ช่วยทำให้ผู้คนหรือเด็กรุ่นใหม่หันมาสนใจศึกษาเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งประวัติศาสตร์ สังคม วรรณกรรม และปรัชญา เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้วผู้คนจะรับรู้และเข้าใจว่าแอนิเมชัน มันไม่ได้มีความสมจริงแต่แรก ทำให้ผู้สร้างสามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ ต่อเสริมเติมแต่งเรื่องราวให้ออกมาสนุก หรือเวอร์วังขนาดไหนก็ได้ โดยที่คนดูไม่ได้ใส่ใจเรื่องตรรกะมากเท่าหนังที่คนแสดงจริง


เช่นเรื่องก้านกล้วยทั้ง2ภาค ที่เล่าเรื่องราวของช้าง แต่สอดแทรกประวัติศาสตร์ในยุคกรุงศรีอยุธยา ที่ถูกกองทัพหงสาวดีกรีธาทัพเข้าจู่โจม และการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอิสรภาพกลับคืนมา,เอคโค่ จิ๋วก้องโลก ที่แฝงประเด็นเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม และการตระหนักรู้เรื่องปัญหาภาวะโลกร้อน,จ๊ะทิงจา ที่นำตำนานสุดสาครของสุนทรภู่มาเล่าในสไตล์ของการ์ตูนตลก-ผจญภัย(แอบหลอนหน่อยๆ),สามก๊กมหาสนุก หรือ รามเกียรติ์ มินิ แอนิเมชัน ก็สามารถเล่าเรื่องราวมหากาฬอันซับซ้อน และยาวนานของวรรณคดีทั้ง2เรื่อง ให้ออกมาสนุกได้,เบิร์ดแลนด์ แดนมหัศจรรย์ ชุมชนนิมนต์ยิ้ม หรือ4แองจี้ ก็สามารถมอบมุมมองและแง่คิดที่ดี ในการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อีกด้วย


4.เป็นสินค้าส่งออก


การสร้างแอนิเมชันเอง ก็ยังสามารถนำมาขายเป็นสินค้าที่ส่งออกได้เช่นกัน แอนิเมชันไทยหลายเรื่องที่ไม่ทำเงินในประเทศ แต่กลับสามารถทำกำไรจากต่างประเทศได้ เช่นหนังอย่างก้านกล้วยทั้ง 2 ภาค หรือการ์ตูนรายสัปดาห์อย่าง Shelldon และ เบิร์ดแลนด์ แดนมหัศจรรย์ เนื่องจากประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในอาเซียน ที่มีศักยภาพในการสร้างแอนิเมชัน จึงสามารถขายลิขสิทธิ์ เพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านให้ชมได้


หรือบางทีผู้สร้างก็อาจจะใช้แอนิเมชันในการขายสินค้าที่เกี่ยวข้อง เช่น ตุ๊กตาในเรื่องปังปอน,โมเดลจากนักรบมนตรา ,เครื่องดื่มจากกำเนิดฮีโร่สายพันธุ์มอลต์ หรือแม้แต่การ์ดเกมจากเรื่อง Dinomaster ที่จนถึงปัจจุบันก็ยังมีชุมชนคนที่เล่นการ์ดนี้อยู่ นอกจากจะเป็นการโปรโมทแอนิเมชันแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งรายได้เสริมให้กับสตูดิโอผู้สร้างอีกด้วย


5. เป็นพอร์ตชั้นยอด


แม้ว่าแอนิเมชันบางเรื่องอาจใช้ทุนสร้างมหาศาล เทียบเท่าหนังสงครามฟอร์มยักษ์ของไทยหลาย ๆ เรื่อง แถมยังไม่สามารถทำกำไรคืนกลับมาได้ตามที่หวัง แต่หากมองอีกแง่ นี่อาจเป็นพอร์ตชั้นยอด หรือเป็นวิธีในการโปรโมทสตูดิโอ ไปให้กับชุมชนผู้สร้างแอนิเมชันทั่วโลกได้เห็น และพิสูจน์ฝีมือของทีมงานชาวไทย ว่ามีศักยภาพสูง แม้จะใช้ทุนสร้างเพียงเสี้ยวเดียวของแอนิเมชันจากฮอลลีวูดก็ตาม เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ทำโปรเจกต์ร่วมกับต่างประเทศมากขึ้น ที่เผลอ ๆ อาจมีรายได้สูงกว่าหนังไทยหลายเท่า


เช่นผลงานของ RiFF Studio ที่ก่อนหน้าจะมาเป็น “นักรบมนตรา : ตำนานแปดดวงจันทร์” ทีมงานนี้เคยมีส่วนร่วมในการสร้างฉากการ์ตูนของหนังอย่าง suckseed ,ทำฉากแอนิเมชันหรือเพลงประกอบของ เมย์ไหน..ไฟแรงเฟร่อ,ทำแอนิเมชันขนาดสั้นอย่าง BLOODY BUNNY และ RAAM: the bridge to Lanka ที่ต่อยอดมาเป็นนักรบมนตราในภายหลัง ซึ่งด้วยประสบการณ์เหล่านี้เองที่เป็นบันไดส่งให้ชื่อ RiFF Studio ได้ร่วมงานกับ Studio Khara ในการสร้าง EVANGELION: 3.0+1.01 THRICE UPON A TIME และค่ายเกมชื่อดังอย่าง Toys for Bob ในการทำตัวอย่าง Cinematicของเกม CRASH TEAM RUMBLE ออกมา


นอกจากนี้ ยังมีสตูดิโอแอนิเมชันสัญชาติไทยอื่น ๆ ที่เคยมีผลงานร่วมกับสตูดิโอจากต่างประเทศ เช่น The Monk Studioกับหนังอย่าง Rango และ Wish Dragon หรือ YGGDrazil Group กับหนังจากเกมดังอย่าง Kingsglaive: Final Fantasy XV เป็นต้น นับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ที่ได้มีส่วนร่วมในโปรเจกต์ระดับโลกแบบนี้


ข้อมูลจาก :

https://www.soimilk.com/movies/news/thai-movie-cartoon-international-animation-day

https://th.my-best.com/51165

https://www.jalearnmedia.com/blog/studio-animation-thailand/

https://www.creativethailand.org/view/article-read?article_id=33131