MENU

2566 ปีทองของหนังไทย

 1 พ.ย. 2566 00:00

ดูเหมือนว่าปี 2566 นี้ จะเป็นอีกหนึ่งปีที่สำคัญของวงการภาพยนตร์ไทย ที่เต็มไปด้วยหนังดี ระดับสร้างปรากฏการณ์ได้ตั้งแต่ต้นปียันปลายปี มีหนังที่ทำลายสถิติ และมีหนังที่อาจจะพูดได้ว่ากอบกู้ความรู้สึกของผู้ชม ให้กลับมาเชื่อมั่นในหนังไทยได้อีกครั้ง ในวันนี้เราจึงจะมาวิเคราะห์กันว่า ทำไมเราจึงคิดว่าปี 2566 จะเป็นปีทองของภาพยนตร์ไทย


1.การผงาดขึ้นมาของจักรวาลไทบ้าน


เรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จแบบที่ไม่มีใครคาดคิดก็ได้ ของหนังอย่าง “สัปเหร่อ” ที่ปัจจุบันทำเงินไปเกิน 700 ล้านบาทแล้ว แถมยังไม่มีท่าทีจะหยุดง่าย ๆ ซึ่งไม่ใช่ว่าหนังเรื่องนี้จะโผล่มาแล้วดังเป็นพลุแตกได้เลย แต่มันต้องอาศัยการผลักดันจากหนังภาคก่อน ๆ ที่มีการแนะนำตัวละครและพาเราคนดูไปรู้จัก ซึมซับวิถีชีวิต หรือวัฒนธรรมของคนอีสาน รวมถึงความเป็นธรรมชาติ และความเป็นกันเองของเหล่าทีมงานนักแสดง แบบที่หาไม่ได้ในหนังเรื่องไหน ๆ


ฝั่งผู้สร้างเองก็มีการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการสร้างหนังเรื่อยมา พัฒนาฝีมือจนมาตกผลึกที่หนังอย่างสัปเหร่อ ที่นับเป็นหนังภาคที่มีโปรดักชั่น งานสร้าง บท การแสดง หรือองค์ประกอบต่าง ๆ ที่สมบูรณ์แบบที่สุดในจักรวาล แถมยังมีประเด็นความตายที่เป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน จึงสามารถเข้าถึงคนหมู่มากได้ง่ายกว่าภาคที่ผ่าน ๆ มา และด้วยคุณภาพขนาดนี้ จึงเกิดเป็นกระแสปากต่อปาก ชื่นชมหนัง และเชิญชวนให้ผู้ที่ไม่เคยชม เข้ามาลองสัมผัสหนังเรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์ จนสามารถทำเงินถล่มทลายแม้จะไม่ได้ทุ่มงบโปรโมทมากมายก็ตาม


เหล่ารายการต่าง ๆ ก็มีการเชิญผู้กำกับและนักแสดงไปสัมภาษณ์ ที่ก็ยิ่งทำให้หนังเป็นที่รู้จักมากขึ้น และเป็นการขยายฐานแฟนคลับของจักรวาลไทบ้านออกไป ที่ส่งผลให้ต่อจากนี้ ไม่ว่าพวกเขาจะทำหนังเรื่องอะไร ก็จะมีคนสนใจเฝ้ารอ และในอนาคตจักรวาลไทบ้านก็จะกลายเป็นหนังแมส ที่เราคงเห็นสื่ออื่น ๆ พยายามตามรอยความสำเร็จของจักรวาลนี้อย่างแน่นอน



2.หนังของสตรีมมิ่ง มาทลายข้อจำกัดเดิม ๆ


ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมานี้ นับเป็นช่วงเวลาที่หนังไทยตกต่ำ จากการที่วงการหนังโดยรวมขาดความสดใหม่ ขณะที่คนดูก็เรียกร้องให้เหล่าผู้สร้างกล้าที่จะฉีกแนวบ้าง เพราะเบื่อแล้วกับการดูแต่หนังแนวเดิม ๆ รัก ตลก ผี วนไปวนมาอยู่อย่างนั้น แต่ปัญหาก็คือเสียงของคนดูเหล่านี้อาจจะยังไม่ดังพอ เมื่อมีการสร้างหนังแนวใหม่จนเกินไป ก็อาจเกิดเป็นความไม่คุ้นเคยของทั้งฝั่งผู้สร้าง ที่ไม่สามารถสร้างสรรค์งานที่ดีพอออกมาได้ ส่วนฝั่งผู้ชมเองพอเจอหนังไอเดียแปลก ๆ ก็อาจจะไม่กล้าเสี่ยงเสียตังซื้อตั๋วเข้าไปดู และมักจะทำให้รายได้ของหนังเหล่านี้ไม่เข้าเป้าอยู่เสมอ ส่งผลให้ฝั่งผู้สร้างเองก็เลือกที่จะกลับมาเดินในแนวทางที่ปลอดภัยเหมือนเดิม


จนกระทั่งการมาถึงของบริการ Streaming อย่าง Netflix,HBO , Disney+หรือ Amazon Prime ที่ได้ทลายข้อจำกัดเหล่านั้นไป เพราะการดูหนังอยู่ที่บ้านมันไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เพิ่มเติมอยู่แล้ว ผู้ชมส่วนใหญ่ก็ล้วนสมัคร Streaming เอาไว้ดูคอนเทนต์ประจำทุกเดือน ทำให้พวกเขาไม่มีความลังเลที่จะทดลองดูหนังแนวใหม่ ๆ ยิ่งหากว่าเป็นหนังไทยด้วยแล้วก็ยิ่งเป็นกระแส ที่เผลอ ๆ อาจดังกว่านำมาฉายโรงด้วยซ้ำ Streaming อย่าง Netflix ก็เป็นเจ้าที่มีการผลิตคอนเทนต์ภาษาไทยมากมาย ด้วยรูปแบบบริการที่ต้องมีคอนเทนต์เข้าใหม่อยู่เสมอในทุก ๆ สัปดาห์ ก็ทำให้ Netflix มีการทุ่มงบในการดึงตัวเหล่าผู้สร้างมากฝีมือ ให้มาสร้างคอนเทนต์ Original ที่เปิดกว้างทั้งเรื่องไอเดีย แนวคิด ประเภทหนัง รวมถึงยังมีงบที่สูงกว่าหนังฉายโรงบางเรื่องซะอีก ด้วยอิสระขนาดนี้ จึงไม่แปลกที่ใคร ๆ ก็อยากมาร่วมงานด้วย



เช่น ผลงานอย่าง Hunger คนหิว เกมกระหาย หนังเสียดสีสังคมที่มาในรูปแบบของหนังทำอาหาร , เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ หนังอีสานเรื่องแรกของช่อง กับการตามหาความจริงของคดีฆาตกรรม และล่าสุดกับ มนต์รักนักพากย์ ที่เป็นการพาผู้ชมไปสัมผัสบรรยากาศการพากย์หนังขายยา ในยุครุ่งเรืองของพระเอกหนุ่ม มิตร ชัยบัญชา โดยที่ทั้ง 3 เรื่องนี้ก็ล้วนมีไอเดียที่แปลกใหม่ และสามารถสร้างความแตกต่างให้กับวงการหนังไทยได้ ซึ่งคงเป็นไปได้ยากที่จะเห็นอะไรแบบนี้ในโรงภาพยนตร์


3.ผู้สร้างเริ่มกล้าออกนอกกรอบมากขึ้น


การที่ผู้คนเบื่อกับหนังแนวเดิม ๆ มันเริ่มสะท้อนให้เห็นผ่านรายได้หนังอย่างชัดเจน หนังที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับนักธุรกิจคนรวยในกรุงเทพ ยูทูปเบอร์ชื่อดัง พนักงานออฟฟิศชนชั้นกลาง เด็กนักเรียนโรงเรียนในเมือง หรือคนที่เบื่อเมืองหลวงแล้วไปใช้ชีวิตในชนบท ก็ล้วนได้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าเมื่อก่อนอีกแล้ว ผู้ชมเริ่มรู้สึกไม่อินกับเรื่องราวเหล่านี้ และด้วยทางเลือกในการเสพสื่อมากมายในปัจจุบัน ผู้ชมก็มีสิทธิ์ปฏิเสธหนังที่พวกเขาไม่ชอบ และเริ่มมองหาหนังที่ตอบสนองความต้องการของตัวเองมากยิ่งขึ้น


เช่นหนังที่หยิบเรื่องใกล้ตัวมาเล่า เรื่องราวที่อาจฟังดูแปลกใหม่ในวงการภาพยนตร์ แต่กลับเป็นสิ่งที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน เช่นหนังอย่าง สัปเหร่อ ที่เล่าเรื่องราวของชีวิตและความตาย ผ่านอาชีพสัปเหร่อที่หลาย ๆ คนมองข้าม แต่หากขาดไปอาจไม่มีคนมาทำพิธีศพ , 4 Kings 2 กับเรื่องเด็กอาชีวะตีกันที่เราพบเห็นตามหน้าข่าว , มีหนังย้อนยุคที่ชวนให้เรารู้สึกโหยหาอดีต อย่าง เธอกับฉันกับฉัน และ 14 อีกครั้ง ที่พาเราย้อนกลับไปในยุค Y2K อันเต็มไปด้วยเสน่ห์ หรือหนังแอ็คชั่นมัน ๆ อย่าง ขุนพันธ์ 3 ที่ไม่ค่อยมีใครทำแนวนี้ออกมาแล้วในปัจจุบัน ซึ่งมันบีบให้ผู้สร้างต้องกล้าที่จะลองคิดอะไรใหม่ ๆ มากขึ้นนั่นเอง


4.การประท้วงของฮอลลีวูด


อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้หนังไทยหลายเรื่องประสบความสำเร็จในปีนี้ คือการที่ฝั่งฮอลลีวูดมีการนัดหยุดงานประท้วงของ 2 สมาคมที่ทรงอิทธิพลที่สุดในวงการ อย่างสมาคมนักแสดงและนักเขียนแห่งอเมริกา ที่พากันหยุดงานเนื่องจากไม่พอใจเหล่าค่ายหนัง ในเรื่องส่วนแบ่งรายได้และการนำ AI เข้ามาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมันส่งผลให้โปรเจกต์หนังต่าง ๆ ที่เตรียมเข้าฉายต้องถูกเลื่อนออกไปก่อน เพราะนักแสดงไม่สามารถมาร่วมแสดง หรือช่วยในการโปรโมทตัวหนังได้


หรือหนังที่อยู่ในช่วงพรีโปรดักชั่น ก็ไม่สามารถทำงานต่อได้เพราะไม่มีนักเขียนบทเช่นกัน นั่นหมายความว่าคู่แข่งคนสำคัญของหนังไทยก็ลดลงไปด้วย ตัวอย่างเช่นในเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้ จากเดิมที่ทุก ๆ ปีจะเป็นช่วงเวลาที่หนัง BlockBuster เข้าฉายชนกันไม่แพ้ช่วงซัมเมอร์ แต่ในปีนี้กลับไม่มีหนังใหญ่เข้าฉายสักเรื่อง มีเพียง Killers of the Flower Moon ที่เป็นหนังดราม่า ชีวประวัติความยาว 3 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น เปิดทางให้หนังไทยได้ยืนระยะกันอย่างเต็มที่ ไม่มีหนังฮอลลีวูดมาแย่งโรงไป ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้สัปเหร่อและธี่หยดทำรายได้ถล่มทลายก็เป็นได้


และหลังจากนี้ก็ยังมีหนังไทยน่าดูอีกมากมาย ที่เตรียมจะให้ผู้ชมได้สัมผัสกันในช่วงปลายปี ทั้ง Redlife หนังเรื่องแรกของ Brandthink Cinema ที่เล่าเรื่องราวของคนชายขอบในสังคมกรุงเทพ , ดอยบอย หนังรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ปูซาน ที่ว่าด้วยแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ที่มาทำงานค้าประเวณีในจังหวัดเชียงใหม่ , 4 Kings 2 สานต่อเรื่องราวของนักเรียนอาชีวะยุค 90 ที่คราวนี้เป็นการปะทะกันของ 2 อริต่างสถาบันอย่าง กนก และ บุรณพนธ์ และ ปิดเมืองล่า - Pattaya Heat หนังแอ็คชั่นสุดเดือดส่งท้ายปี ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างไทย-จีน พร้อมนำเหล่านักแสดงแนวหน้าของวงการมาประชันฝีมือกัน ทั้ง ก๊อต จิรายุ , อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม , น้อย วงพรู และ พลอย เฌอมาลย์ ไม่รวมหนังอีกหลายเรื่องที่รอลง Streaming ในอนาคต


จะเห็นได้ว่าในปีนี้ เต็มไปด้วยหนังคุณภาพ ทั้งที่ได้รับรางวัลจากต่างประเทศ หนังที่ทำลายสถิติ หรือหนังทำเงินทะลุ 100 ล้านอยู่หลายเรื่อง เป็นบทพิสูจน์ว่าวงการหนังไทย ก็ยังมีผลงานคุณภาพและมีผู้คนมากมายพร้อมที่จะสนับสนุนอยู่ เราจึงขอยกให้ปี 2566 นี้เป็นปีทองของหนังไทยอย่างแท้จริง