MENU

สรุป พ.ร.บ. กยศ ฉบับใหม่ ช่วยลดหนี้อะไรบ้าง?

 17 พ.ย. 2566 00:00

ข่าวดีสำหรับคนกู้ยืมเรียน หลังจากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุการแก้หนี้ กยศ. โดยใช้การคำนวณตาม “พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566” ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มี.ค.66 ซึ่งการคำนวณหนี้ใหม่ดังกล่าว จะมีผลทำให้หนี้ของลูกหนี้ กยศ. ลดลงอย่างมาก


“ลูกหนี้ กยศ. ที่ยังไม่ปิดบัญชี ทั้งรายที่จ่ายหนี้ปกติ หรือรายผิดที่ชำระหนี้บ้าง แล้วเจอเบี้ยปรับสูง ทำให้เมื่อคำนวณยอดหนี้ตามกฎหมายเดิมแล้ว ท่านเหมือนมีหนี้ค้างอยู่เยอะ ตัดเท่าไหร่ไม่ถึงเงินต้นซักที เมื่อมีกฎหมายใหม่แล้ว ยอดหนี้ของท่านที่คำนวณตามกฎหมายใหม่ จะลดลงมาก ๆ และถ้าชำระหนี้ กยศ. ไปเป็นจำนวนสูงเกินกว่ายอดหนี้ที่คำนวณใหม่แล้ว กยศ.จะคืนเงินให้ท่านเหล่านั้น” นายกิตติรัตน์ กล่าว


โดยการคำนวนใหม่จะครอบคลุมลูกหนี้ที่ยังมีสถานะเป็นลูกหนี้ของกองทุน กยศ.ประมาณ 3.5 ล้านราย สำหรับลูกหนี้ที่ผ่อนชำระมาแล้ว ครอบคลุมถึงลูกหนี้ กยศ. ที่ปิดบัญชีไปแล้ว ทั้งการปิดบัญชีทั้งก้อนหรือชำระหนี้ครบตามกำหนดเวลา ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.2566 เป็นต้นไปด้วย

สำหรับการปรับหนี้ กยศ. ใหม่ตามข้อกำหนดใน พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) สรุปออกมามีสาระสำคัญหลัก ๆ ได้แก่


- กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน 1% ต่อปี (จากเดิมอยู่ที่ 1% ต่อปี)


- กรณีผิดนัดชำระจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยปรับจาก 7.5% เหลือ 0.5% ต่อปี


- ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน


- ปรับลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่ หักเงินต้นก่อน ตามมาหักดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่ และหักดอกเบี้ยผิดนัดชำระ (เดิมทีหักดอกเบี้ยผิดนัดชำระ หักดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่ หักยอดเงินต้น)


- ลูกหนี้ที่ผ่อนมาแล้ว จะคำนวณใหม่ตั้งแต่วันแรก


โดยจะเริ่มจากกลุ่มลูกหนี้ที่อยู่ในชั้นการบังคับคดี 46,000 ราย คาดว่าแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.นี้ จากนั้นจะไปคำนวณยอดหนี้ในกลุ่มลูกหนี้ที่คดีกำลังจะขาดอายุความ ซึ่งมีประมาณ 40,000 ราย


จากตัวเลขสถิติข้อมูล กยศ. วันที่ 30 ก.ย.2566 พบว่า ปัจจุบันจำนวนผู้กู้ กยศ. ทั้งหมด 6,739,085ราย แบ่งเป็น ผู้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,537,022ราย สัดส่วน53% อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 1,299,490 ราย สัดส่วน19% ชำระหนี้เสร็จสิ้น 1,830,978 ราย สัดส่วน 27% และเสียชีวิต/ทุพพลภาพ 71,595 ราย สัดส่วน 1%