MENU

กูลเยลโม มาร์โกนี ผู้คิดค้นเครื่องส่งสัญญาณวิทยุ

 5 ต.ค. 2565 00:00

ในช่วงที่ผ่านมาที่มีฝนตกหนัก ก็ส่งผลให้หลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมสูง จนไม่สามารถสัญจรได้ และทำให้การช่วยเหลือล่าช้าลงไป ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้เสนอไอเดียให้ชาวบ้านใช้วิทยุทรานซิสเตอร์ในการรับฟังข่าวสารต่าง ๆ จากทางภาครัฐ นำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ กันไป แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ ว่าหากไม่มีวิทยุในวันนั้น โลกของการสื่อสารคงไม่ได้พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน ที่สะดวก รวดเร็ว และแม่นยำ วันนี้เราจึงนำเกร็ดความรู้ เกี่ยวกับผู้ที่คิดค้นเครื่องส่งสัญญาณวิทยุอย่างนาย กูลเยลโม มาร์โกนี นักวิทยาศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงการสื่อสารของโลกไปตลอดกาล

กูลเยลโม มาร์โกนี (Guglielmo Marconi) เป็นชาวอิตาลี เกิดเมื่อวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1874 ในครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะ ตั้งแต่เด็กเขาเป็นคนขี้อาย และไม่มีเพื่อน เมื่อเรียนจบชั้นมัธยม เขาก็เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย Technical Institute ในคณะวิศวกรรมไฟฟ้า เพราะสนใจเรื่องคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ Heinrich Hertz พบในปี 1894


ระหว่างเรียน มาร์โกนี ก็พยายามศึกษาปรากฏการณ์นี้ด้วยตนเอง ด้วยอุปกรณ์ที่พอหามาได้ในคฤหาสน์ของพ่อเขา เช่น ขดลวดเหนี่ยวนำ และเครื่องทำ spark ไฟฟ้า และใฝ่ฝันว่าวันหนึ่ง ถ้าเขาสามารถประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ เขาก็จะร่ำรวย และเป็นที่สนใจของสาว ๆ บ้าง


จนในเดือนกันยายนปี 1895 มาร์โกนี ก็สามารถส่งสัญญาณข้อความสั้น ๆ ไปหาน้องชายของเขาที่อยู่อีกฟากของเมืองได้ แต่เขาก็ไม่หยุดแค่นั้น มาร์โกนีได้ค้นพบว่าหากวางสายอากาศในแนวดิ่ง สัญญาณจะสามารถไปได้ไกลหลายกิโลเมตร และเมื่อได้ติดตั้งจานสะท้อนคลื่นที่เสาส่งเพื่อโฟกัสคลื่น สัญญาณก็จะยิ่งไปได้ไกลมากกว่าเดิม

การค้นพบนี้ ทำให้มาร์โกนีมีความมั่นใจมาก ว่าสิ่งประดิษฐ์ของเขาจะต้องปฏิวัติวงการ แต่ก็น่าเสียดายที่ในตอนนั้น คนอิตาลีไม่ค่อยให้ความสนใจนวัตกรรมใหม่ ๆ เขาจึงเดินทางไปที่ลอนดอนเพราะคนอังกฤษมักสนใจเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่เสมอ มาร์โกนี ได้เดินทางไปพบกับ วิลเลียม พรีซ (William Preece) หัวหน้าวิศวกรประจำกรมไปรษณีย์ของอังกฤษ วิลเลียมได้สนับสนุนมาร์โกนีอย่างเต็มที่ ถึงขั้นช่วยมาร์โกนีในการจัดแสดง และจดสิทธิบัตรอีกด้วย


ด้วยความช่วยเหลือของ วิลเลียม พรีซ ทำให้มาร์โกนีพัฒนาเครื่องรับ-ส่งวิทยุ ที่มีคุณภาพสูงมากในเวลานั้น และนวัตกรรมนี้ก็ถูกซื้อไปติดตั้งเป็นสถานีวิทยุมากมายทั่วยุโรป จนในปี 1900 มาร์โกนีก็ได้เปิดบริษัท Marconi Wireless Telegraph Company ขึ้นมาด้วยเงินสนับสนุนจากญาติของเขา เพื่อทำธุรกิจวิทยุ ให้ผู้คนสามารถสื่อสารกันได้ โดยไม่ต้องใช้ลวดเป็นตัวกลางในการนำสัญญาณ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า Wireless นั่นเอง

แต่ในตอนนั้นเหล่านักวิทยาศาสตร์หลายคน ก็มีความคิดว่าคลื่นวิทยุคงไม่เวิร์คอย่างแน่นอน เพราะสามารถส่งสัญญาณได้ไม่เกิน 150 กม. เท่านั้น และคิดกันไปเองว่าเพราะความโค้งของโลก เลยทำให้คลื่นวิทยุไม่สามารถเดินทางตรง ๆ ได้ จนในวันที่ 12 ธันวาคม ปี 1901 มาร์โกนี ก็สามารถส่งสัญญาณข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกได้สำเร็จ หักหน้าบรรดานักวิทยาศาสตร์ในตอนนั้น และเป็นการเปิดยุคใหม่ของการสื่อสารอย่างแท้จริง


สิ่งที่มาร์โกนีได้ประดิษฐ์ขึ้นมานั้น ได้ถูกต่อยอดจนกลายเป็นสิ่งต่าง ๆ ที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน ทั้งสถานีวิทยุเพื่อความบันเทิง ที่สร้างขึ้นมาให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงได้ หลังจากที่วิทยุถูกใช้เฉพาะหน่วยงาน หรือองค์กรภาครัฐเท่านั้น วิทยุยังถูกใช้บนเรือเดินสมุทรทุกลำ ที่มีไว้ส่งสัญญาณต่าง ๆ เช่นเหตุการณ์บนเรือ Titanic ที่ชนกับภูเขาน้ำแข็ง และจมลงสู่ก้นสมุทร แต่เครื่องส่งวิทยุที่กัปตันได้ส่งสัญญาณความช่วยเหลือไป ก็สามารถช่วยชีวิตคนบนเรือได้ถึง 705 คน จาก 2,227 คน